บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) ยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 26.79 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ และมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบล.เคทีบี (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นในครั้งนี้
วัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้ มาใช้ในการขยายธุรกิจของ ETC และบริษัทย่อยของ ETC ในอนาคต หรือใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงินของ ETC และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของ ETC และบริษัทย่อยของ ETC
บริษัทฯดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะในรูปแบบของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) หรือมีขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ (MW) โดยมีโรงไฟฟ้าที่เริ่มวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 3 แห่ง ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง RDF แห่งแรกของบริษัทฯ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งสูงสุดที่ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำปริมาณไฟฟ้าที่บริษัทฯ ผลิตและจำหน่ายในแต่ละวัน และไม่มีค่าปรับ และ กฟภ. ตกลงรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุด 8.0 เมกะวัตต์ ที่ระดับแรงดัน 22,000 โวลต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date หรือ COD)
บริษัทฯ ยังมีบริษัทย่อยจำนวน 2 แห่งที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. และได้เริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟภ. ในปี 2562 ได้แก่ บริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด (RH) ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งขนาด 7.0 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. ในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุด 5.5 เมกะวัตต์ ที่ระดับแรงดัน 22,000 โวลต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562
และบริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (AVA) ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งขนาด 4.0 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. ในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุด 3.0 เมกะวัตต์ ที่ระดับแรงดัน 22,000 โวลต์ เป็นระยะเวลา 20 ปีนับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562
นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีบริษัทย่อยอีกจำนวน 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (EEC) ประกอบธุรกิจให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร (Integrated EPC) และบริหารงานและซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (Operations & Maintenance หรือ O&M) โดยให้บริการกับโรงไฟฟ้าภายในกลุ่มบริษัทฯ
ผลดำเนินงานของบริษัทฯงวด 9 เดือนปี 2562 มีรายได้รวม 260.07 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 171.49 ล้านบาท กำไรสุทธิประมาณ 54 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 2,518.76 ล้าบาท หนี้สินรวม 1,628.61 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 890.14 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 59 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2.62 ล้านบาท โดยมีรายได้หลักจากธุรกิจเดิมคือ การเป็นตัวแทนในการรับกำจัดกากอุตสาหกรรม 1.40 ล้านบาท และบริษัทฯ ได้เลิกดำเนินธุรกิจเดิมตั้งแต่ 31 ธ.ค. 59 ส่วนในปี 60-61 และงวด 9 เดือนแรกปี 62 บริษัทฯ มีรายได้รวม 184 ล้านบาท 326 ล้านบาท และ 260 ล้านบาท ตามลำดับ โดยปี 60 บริษัทฯ มีรายได้หลักจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ. ซึ่งเป็นลูกค้าเพียงรายเดียวประมาณ 176 ล้านบาท และมีรายได้จากการให้บริการรับเหมาก่อสร้างแก่บุคคลภายนอกของ EEC อีกประมาณ 8 ล้านบาท ในปี 60 รายได้รวมของบริษัทฯ มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 59
สำหรับรายได้รวมในปี 2561 ของบริษัทฯ ประมาณ 326 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทฯ ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนในงวด 9 เดือนแรกปี 62 บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 61 ที่มีรายได้รวม 242 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในจำนวนวันทำงานที่มากขึ้น
สำหรับกำไรสุทธิในปี 59 -61 บริษัทฯ มีกำไร(ขาดทุน)สุทธิเป็นจำนวน -28 ล้านบาท -3 ล้านบาท และ 65 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในปี 59 บริษัทฯ มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ เนื่องจากบริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นที่ต่ำ แต่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารและต้นทุนทางการเงินที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมและค่าที่ปรึกษาสำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแห่งแรกภายใต้ ETC และต้นทุนทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ในปี 60 บริษัทฯ เริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าหลังเสร็จสิ้นการรับโอนสินทรัพย์โรงไฟฟ้าแห่งแรกภายใต้ ETC ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลให้ผลประกอบการขาดทุนสุทธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน สำหรับในปี 61 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเต็มปีเป็นปีแรก ประกอบกับประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้บริษัทฯ มีผลประกอบการกำไรสุทธิในงวดดังกล่าว
ในงวด 9 เดือนแรกของปี 62 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเป็นจำนวนประมาณ 54 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.44 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าโรงไฟฟ้าภายใต้การบริหารของ RH จะเริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.62 แต่บริษัทย่อยดังกล่าวยังไม่รับโอนสินทรัพย์จากผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงยังไม่มีการบันทึกเป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ แต่มูลค่าจากการจำหน่ายไฟฟ้าจะถูกบันทึกเป็นส่วนหักต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในงบแสดงฐานะทางการเงินแทน
ทั้งนี้ RH และ AVA สามารถเริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟภ. โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 62 RH ได้รับโอนสินทรัพย์โรงไฟฟ้าจาก EEC ซึ่งเป็นผู้รับเหมาตามเงื่อนไขในสัญญาว่าจ้างออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ทดลอง และทดสอบระบบของโรงไฟฟ้า (สัญญา EPC) ที่กำหนดให้ EEC โอนโรงไฟฟ้าให้แก่ RH ภายหลังจากโรงไฟฟ้าของ RH สามารถเดินเครื่องจักรได้เป็นระยะเวลา 14 วันติดต่อกัน โดยปราศจากปัญหาต่างๆ ทำให้บริษัทฯ สามารถบันทึกและเริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของ RH ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป ในขณะที่ ณ ปัจจุบัน AVA ยังไม่ได้รับโอนสินทรัพย์โรงไฟฟ้าจาก EEC เนื่องจากอยู่ระหว่างการทดสอบการดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญา EPC เช่นเดียวกับ RH
ดังนั้น รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง จึงยังไม่ถูกบันทึกและรับรู้เป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จในงวด 9 เดือนแรกของปี 2562 ทั้งนี้ รายละเอียดของโรงไฟฟ้าของ RH และ AVA ดังต่อไปนี้
โครงการโรงไฟฟ้าของ RH ประเภทเชื้อเพลิงเป็นขยะอุตสาหกรรม เริ่ม COD 24 ก.ย.62 กำลังการผลิตติดตั้ง 7 เมกะวัตต์ ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายสูงสุด 5.5 เมกะวัตต์ ระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้านับจากวันเริ่ม COD เป็นเวลา 20 ปี มูลค่าก่อสร้างโครงการตามสัญญา EPC 560 ล้าบาท
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าของ AVA ประเภทเชื้อเพลิงเป็นขยะอุตสาหกรรม เริ่ม COD 25 ธ.ค.62 กำลังการผลิตติดตั้ง 4 เมกะวัตต์ ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายสูงสุด 3 เมกะวัตต์ ระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้านับจากวันเริ่ม COD เป็นเวลา 20 ปี มูลค่าก่อสร้างโครงการตามสัญญา EPC 374 ล้าบาท
ณ วันที่ 13 ธ.ค.62 บริษัทฯมีทุนจดทะเบียน 1,120 ล้านบาท เป็นทุนที่เรียกชำระแล้ว 820 ล้าบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 1,640 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท/หุ้น ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทฯ จะมีทุนชำระแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 1,120 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 2,240 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ณ วันที่ 13 ธ.ค.2562 คือ บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) ถือหุ้น 984 ล้านหุ้น คิดเป็น 60% หลังเสนอขายหุ้นในครั้งนี้จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 43.93%, นายภัคพล งามลักษณ์ ถือหุ้น 495.54 ล้านหุ้น คิดเป็น 30.22% หลังเสนอขายหุ้นในครั้งนี้จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 22.12%, บมจ. อัคคีปราการ (AKP) ถือหุ้น 159.94 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.75% หลังเสนอขายหุ้นในครั้งนี้จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 7.14%
บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลในแต่ละปีในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลของงบการเงินเฉพาะของบริษัทฯ และหลังหักเงินสำรองตามกฎหมาย และเงินสะสมอื่นๆ ตามที่บริษัทฯ กำหนด