ตลาดหุ้นเอเชียฟื้นถ้วนหน้า จากอานิสงส์ดาวโจนส์-ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 6, 2008 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ตลาดหุ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียพร้อมใจดีดตัวขึ้นถ้วนหน้า โดยได้รับอานิสงส์จากการปิดบวกของตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรกันอย่างคึกคัก หลังจากที่ตลาดหุ้นในเอเชียทรุดตัวลงในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มทองและน้ำมันที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นทั่วทั้งเอเชีย
เมื่อคืนที่ผ่านมา ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 120 จุด จากรายงานตัวเลขภาคบริการที่แข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่ตัวเลขภาคการผลิตยังสร้างความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจ
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า ในเช้าวันนี้ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดเช้าพุ่งขึ้น 1.4% ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดดีดขึ้น 1.1%
นอกจากนี้ ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเกาหลีใต้ขยับขึ้น 0.5% และดัชนีสเตรทส์ไทม์ ตลาดหุ้นสิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.34% ส่วนดัชนีเวทเต็ดพุ่งทะยานขึ้น 1.35%
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนที่ช่วยให้ดัชนีดาวโจนส์พุ่งสูงขึ้นนั้นถูกสกัดจากกระแสความวิตกกังวลของนักลงทุนในช่วงก่อนปิดตลาด หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ประเมินเศรษฐกิจออกมาในเชิงลบ และนักลงทุนยังผิดหวังต่อแผนการให้ความช่วยเหลือบริษัทประกันหุ้นกู้แอมแบค ไฟแนนเชียลที่กล่าวว่าจะระดมทุนผ่านการออกหุ้นสามัญมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นตัวเลขในดุลบัญชีของบริษัท
ทั้งนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลต่อผลกระทบจากวิกฤตสินเชื่อทั่วโลกที่จะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกระแสคาดการณ์ที่ว่าซิตี้กรุ๊ป อิงค์อาจจำเป็นต้องตั้งบัญชีหนี้สูญจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่อิงกับตลาดปล่อยกู้จำนองให้ลูกหนี้ซับไพรม์เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่อไปที่นักลงทุนจับตาคือ รายงานตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ ขณะที่รายงานล่าสุดของเอดีพี ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการด้านข้อมูลจ้างงานของสหรัฐระบุว่า ภาคเอกชนในสหรัฐปรับลดอัตราการจ้างงานเดือนก.พ.ลง 23,000 ตำแหน่ง ซึ่งร่วงลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 15,000 ตำแหน่ง สวนทางกับที่ทางทอมสัน ไอเอฟอาร์ มาร์เก็ตส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 25,000 ตำแหน่ง
เอียน เชพเฮอร์ดสัน จาก High Frequency Economics กล่าวว่า "ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อเงินดอลลาร์คือรายงานตัวเลขจ้างงานของเอดีพี แต่โชคดีที่รายงานดังกล่าวมักออกมาผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นตัวเลขจ้างงานดังกล่าวจึงไม่น่าจะเป็นตัวยืนยันได้ว่าอัตราจ้างงานที่จะรายงานอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้จะปรับตัวลดลง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ