นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการในปีนี้ยอมรับว่ารายได้จะต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากบริษัทได้ขายธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ออกไปแล้ว ซึ่งในธุรกิจดังกล่าวสร้างรายได้ราว 700-800 ล้านบาทต่อปี แต่อย่างไรก็ตามจะไม่ได้กระทบผลกำไร เนื่องจากในธุรกิจดังกล่าวมีอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ค่อนข้างต่ำ
นอกจากนี้ บริษัทยังจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้ามินบูนประเทศเมียนมา ตามสัดส่วนการถือหุ้น 40% ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเฟสที่ 1 ขนาดกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ (MW) อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย.62 ดังนั้น ในปีนี้จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มที่ตลอดปี ขณะที่บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ตั้งแต่ครึ่งแรกของปีนี้ จึงเชื่อว่ากำไรปกติจากการดำเนินงานในปี 63 จะดีกว่าปี 62
"เราอยู่ระหว่างการเตรียมแผนของปี 63 แต่เบื้องต้นยอมรับว่ารายได้อาจจะต่ำลงเมื่อเทียบกับปี 62 เพราะเรามีการขายธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ออกทั้งหมด ซึ่งธุรกิจดังกล่าวมีรายได้ราว 700-800 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมกำไรจะดีขึ้น เพราะเรามีการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆเข้ามาเพิ่มเติม"นายฤทธี กล่าว
ส่วนบริษัทลูกภายใต้บริษัท แพนเทอรา มอเตอร์ส จำกัด ประกอบธุรกิจยานยนต์แบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของการออกแบบ ผลิต ประกอบ ติดตั้ง ขาย ให้เช่า และซ่อมบำรุงรถโดยสารขนาดย่อมถึงขนาดใหญ่ อาจจะมีความล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ราว 1 ไตรมาส เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อไปดูรถมินิบัสโมเดลใหม่ที่จะนำเข้ามาประกอบในไทยได้ เพราะเกิดสถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน
นายฤทธี ยังเปิดเผยในฐานะเป็นกรรมการ บริษัท สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SCN ว่า บริษัทตั้งเป้าภายในระยะเวลา 5 ปี (62-66) จะมีสัญญาซื้อขายไฟภาคเอกชน (Private PPA) รวม 110 เมกะวัตต์ ซึ่งหลังจากมีกำลังการผลิตครบแล้วจะสร้างรายได้ให้บริษัทราว 500 ล้านบาทต่อปี โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากทั้งเงินกู้และเงินทุนของบริษัท แต่หากมีความจำเป็นก็จะพิจารณาการออกหุ้นกู้เพื่อรองรับการขยายธุรกิจดังกล่าว โดยคาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนราว 3,000 ล้านบาทเพื่อรองรับการขยายธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป
โดยวันนี้มีผู้ประกอบการร่วมลงนามติดตั้งโซลาร์รูฟ 7 ราย ได้แก่ 1. บริษัท ไทยเปเปอร์มิลล์ จำกัด 2. บริษัท สมบูรณ์ แพ็คเกจจิ้ง (888) จำกัด 3. บริษัท กาญจนาเฟรชพอร์ค จำกัด 4.บริษัท อินโนเวชั่นฟุ้ตแวร์ จำกัด 5. บริษัท ห้องเย็นท่าข้าม จำกัด 6. บริษัท โบลท แอนด์ นัท อินดัสตรี้ จำกัด 7. บริษัท สหชัยซีฟู้ด จำกัด รวมกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 180 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินการติดตั้งให้เสร็จสิ้นและเริ่มทยอยจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในไตรมาส 2/63 ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมี PPA ในมือแล้ว 10 เมกะวัตต์
และ ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีการเซ็นสัญญา PPA เพิ่มอีก 20 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายที่สนใจและมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำลังการผลิตรวมตั้งแต่ปี 62 ถึงปี 63 น่าจะอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ มูลค่าการทุนรวมประมาณ 900 ล้านบาท และจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทกว่า 120 ล้านบาท
"ปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สนใจการติดตั้ง Solar Roof จำนวนมาก เพื่อที่จะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลง ซึ่งเราเชื่อว่าจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 110 เมกะวัตต์ใน 5 ปี"นายฤทธี กล่าว
ส่วนผลประกอบการในปี 62 บริษัทจะมีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 17 ก.พ. โดยในช่วงไตรมาส 4/62 ผลประกอบการจะดีที่สุดของปีนี้ เนื่องจากมีการรับรู้รายได้พิเศษจากการขายธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ออกทั้งหมด มูลค่าราว 310 ล้านบาท และจะสามารถบันทึกกำไรพิเศษมูลค่าราว 100 ล้านบาท
ด้านนายสารชา ตรัสโฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า จากความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวสูงขึ้น ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน บริษัทพร้อมแล้วที่จะสร้างสรรค์พลังงานทดแทนแบบครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยบริษัทจะไม่ปิดกั้นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ ที่จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อความยั่งยืนในอนาคต แต่จะยังมุ่งเน้นโซลาร์รูฟท็อปเป็นหลัก ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะเป็นผู้นำในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจร เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการลดภาระค่าใช้จ่ายและลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 2,600 ตัน เปรียบเสมือนเป็นการปลูกต้น 300,000 ต้นจากกำลังการติดตั้ง 10 เมกะวัตต์นี้อีกด้วย