TUFเชื่อสหรัฐปรับขึ้นภาษีAD กุ้งไม่กระทบกำไรสุทธิมากนัก คาดรู้ผลก.ย.51

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 6, 2008 14:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ. ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) ชี้แจงกรณีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพิ่งจะประกาศอัตราเบื้องต้นของภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้ง (ภาษีเอดี) หลังจากพิจารณาทบทวนประจำปีครั้งที่สองแล้วนั้น และแม้บริษัทจะยังต้องรอผลการพิจารณาขั้นสุดท้ายก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงฐานการดำเนินธุรกิจอาหารทะเลที่กว้างขวางของบริษัท ก็เชื่อว่าผลกระทบทางด้านการเงินจากอัตราภาษีที่จะประกาศใช้จริง จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เป็นผลกระทบระยะสั้น และส่งผลต่อกำไรสุทธิของบริษัทไม่มากนัก
โดยอัตราภาษีใหม่ที่กำหนดไว้สำหรับการผลิตกุ้งเพื่อการส่งออกจากฐานการผลิตในประเทศไทยของ TUF (ได้แก่ TUF และบริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด ซึ่ง TUF ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51) อยู่ที่ร้อยละ 15.30 สำหรับปัจจุบันอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งที่ TUF จ่ายให้แก่สหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 5.95 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่ผู้ส่งออกกุ้งส่วนใหญ่ของไทยถูกเรียกเก็บ
"Akin Gump ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่เชี่ยวชาญเรื่องภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งและเป็นผู้ให้คำแนะนำกับเรามาโดยตลอด เชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐคำนวณอัตราภาษีใหม่สำหรับ TUF ผิดพลาด"บริษัท ระบุ
สำหรับการทบทวนประจำปีครั้งนี้ อัตราใหม่ที่จะใช้จริง (หมายถึงอัตราที่ผ่านการพิจารณาขั้นสุดท้ายแล้วและจะประกาศใช้จริงในเดือนกันยายน 2551) จะใช้บังคับเฉพาะกับผลิตภัณฑ์กุ้งที่ส่งออกจากประเทศไทยไปสหรัฐอเมริกาในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จนถึงเดือนมกราคม 2550) เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่อัตราภาษีใหม่ถูกประกาศใช้บังคับจริง ผู้ส่งออกกุ้งไทยอาจได้รับภาษีคืนหรืออาจต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมให้กับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐถ้าหากอัตราภาษีที่เห็นชอบในขั้นสุดท้ายและประกาศใช้นั้นแตกต่างจากอัตราที่ผู้ส่งออกแต่ละรายได้จ่ายไปในช่วงระหว่างที่มีการพิจารณาทบทวน
นอกจากนี้ อัตราภาษีใหม่จะใช้เป็นอัตราอ้างอิงใหม่สำหรับช่วงเวลาปัจจุบันด้วย ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงช่วงที่ 4 ของการพิจารณาทบทวนอัตราภาษี (ได้แก่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ถึงเดือนมกราคม 2552)
ในปี 2550 ธุรกิจการผลิตและส่งออกกุ้งของบริษัทมีสัดส่วนยอดขายร้อยละ 20 จากยอดขายรวมทั้งหมดของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน (1.6 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ 35 เป็นการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาจากโรงงานผลิตในประเทศไทย
หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า จากยอดขายรวมทั้งหมดของกลุ่มบริษัทฯ มีประมาณร้อยละ 7 ที่ต้องจ่ายภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และจากประมาณการของบริษัท ปริมาณผลิตภัณฑ์กุ้งที่ต้องชำระภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดนี้มีส่วนสร้างผลกำไรให้บริษัทประมาณร้อยละ 6 จากผลกำไรรวม (1,823 ล้านบาท) ตลอดปี 2550
แม้ว่าธุรกิจการผลิตและส่งออกกุ้งส่วนที่ต้องเสียภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดนี้จะเป็นส่วนที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ในธุรกิจกุ้งของบริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจที่สนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทย่อยในสหรัฐอเมริกาก็ตาม (ได้แก่ Chicken of the Sea Frozen Foods และ Empress International) แต่ก็มีผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทไม่มากนัก
อีกประการหนึ่ง บริษัทย่อยทั้งสองแห่งในสหรัฐอเมริกาก็ไม่เคยใช้ฐานการผลิตในประเทศไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักเพียงแหล่งเดียวมาก่อนแต่ประการใด แต่สามารถจัดหาวัตถุดิบกุ้งจากผู้ผลิตกุ้งรายอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียและอเมริกาใต้อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของตน
"เราจึงเห็นว่าการประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งในขั้นสุดท้ายซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกันยายน 2551 จะไม่ส่งผลกระทบใดต่อการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้งสองแห่งในสหรัฐอเมริกา แม้บริษัทจะรู้สึกผิดหวังกับส่วนต่างเบื้องต้นของอัตราภาษีเดิมที่ใช้อยู่และที่เพิ่งประกาศใหม่นี้ ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทก็จะประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพื่อแก้ปัญหานี้ก่อนจะมีการประกาศอัตราภาษีขั้นสุดท้ายในเดือนกันยายน ซึ่งมั่นใจว่าผลการพิจารณาอัตราภาษีในขั้นสุดท้ายจะแสดงให้เห็นถึงพันธะสัญญาของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตกุ้งแช่แข็งที่มีประสิทธิภาพสูง และแข่งขันได้ในตลาดสหรัฐ" TUF ระบุ
ในด้านบวก องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บเงินประกันการนำเข้ากุ้ง (Continuous Bond) จากประเทศต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างถูกพิจารณาทบทวนอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และการใช้วิธีคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดแบบ "Zeroing" นั้น ถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นในอนาคต บริษัทเห็นว่าภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในฐานะมาตรการกีดกันทางการค้าจะค่อยๆ มีความสำคัญลดลงไปตามเวลาที่ผ่านไป
อย่างไรก็ตาม อัตราที่ประกาศใหม่นี้เป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้น เพื่อแจ้งให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเท่านั้น ที่ปรึกษากฎหมายอธิบายว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐมักจะทบทวนตัวเลขเบื้องต้นและท้ายที่สุดก็จะปรับลดตัวเลขที่จะใช้จริงลงมาอีกมาก กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะยังไม่ประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งที่ผ่านการพิจารณาขั้นสุดท้าย (และนำไปบังคับใช้จริง) จนกว่าจะถึงเดือนกันยายน 2551
การประกาศอัตราใหม่ของภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งเป็นการเบื้องต้นนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งที่ลูกค้าของบริษัทยังมีภาระต้องชำระอยู่ หรือต่ออัตราเงินค้ำประกันที่ลูกค้าจะต้องชำระเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการนำกุ้งเข้าสหรัฐในอนาคตแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันอัตราภาษีใหม่ที่ประกาศนี้ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทที่จะยังสามารถผลิตกุ้งส่งให้แก่ลูกค้าในราคาที่แข่งขันได้อยู่ต่อไปด้วยเช่นกันตามแนวปฏิบัติของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งจะได้รับการทบทวนทุกปีและนำมาบังคับใช้ย้อนหลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ