นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่ง Sideway Down คล้ายคลึงกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ต่างติดลบกันหมด ตามดาวโจนส์ที่ร่วงแรงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลไวรัสโคโรนาที่ยังแพร่ระบาดอย่างไม่มีท่าทีชะลอตัว หลายสายการบินก็ระงับไปจีน มีการจำกัดนักท่องเที่ยวจากจีน รวมถึงจีนก็พบ การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ซ้ำเติมอีก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันก็ปรับตัวลง และเงินบาทก็ยังอ่อนค่า ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี วันนี้ให้ติดตามทิศทางตลาดหุ้นจีนที่กลับมาเทรดหลังหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีน และให้ติดตามตัวเลข PMI ภาคการผลิตของหลายประเทศทั่วโลก
พร้อมให้แนวรับ 1,500-1,505 จุด ส่วนแนวต้าน 1,520-1,525 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (31 ม.ค.63) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,256.03 จุด ร่วงลง 603.41 จุด (-2.09%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,225.52 จุด ลดลง 58.14 จุด (-1.77%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,150.94 จุด ลดลง 148.00 จุด (-1.59%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 330.91 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 259.83 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 123.02 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 129.20 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 32.40 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 22.71 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 8.92 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 5.43 จุด, ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ลดลง 19.08 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (31 ม.ค.63) 1,514.14 จุด ลดลง 9.85 จุด (-0.65%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4,018.45 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 ม.ค.63
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (31 ม.ค.63) ปิดที่ระดับ 51.56 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วง 58 เซนต์ หรือ 1.1%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (31 ม.ค.) อยู่ที่ 0.59 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.19 อ่อนค่าต่อเนื่องจากความกังวลไวรัสโคโรนาระบาดกระทบเศรษฐกิจ-จับตาผลประชุมกนง.สัปดาห์นี้
- สำนักวิจัยฯแห่ปรับ "จีดีพี" ปีนี้ลง หลังไวรัสโคโรนาระบาดหนัก สะเทือนเศรษฐกิจจีน กระทบถึงไทย พร้อมประเมิน กนง.จ่อหั่นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุม 5 ก.พ.นี้ "ทีเอ็มบี" คาด ท่องเที่ยววูบหนักฉุด "จีดีพี" ราว 1% ขณะ "บล.ภัทร" ปรับคาดการณ์เหลือโต 2.2% ด้าน "แบงก์กรุงเทพ" ประเมิน กนง. ส่อลดดอกเบี้ยเพิ่ม ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลุ้นสถานการณ์จบใน 1 เดือน ฉุดเศรษฐกิจจีน 0.3% สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พบในจีน ทำให้รัฐบาลจีนสั่งห้ามบริษัททัวร์หยุดขายผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวทั้งตั๋วเครื่องบินและโรงแรม พร้อมทั้งมีคำสั่งปิดเมืองที่พบการแพร่ระบาดในหลายๆ เมือง ขณะที่บริษัทห้างร้าน และโรงงานต่างๆ ที่อยู่ในจุดเสี่ยงก็ปิดกิจการ ชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะประชุมนัดแรกของปี 2563 ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ มีแนวโน้มว่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1%
- ม.หอการค้าไทยประเมินไวรัสโคโรนาฉุดเศรษฐกิจจีน กระทบส่งออกไทยไตรมาส 1 สูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท "ผลไม้-อิเล็กทรอนิกส์-ยาง" กระทบหนักสศก.หวั่นลากยาว 3 เดือน ฉุดส่งออกผลไม้วูบ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เผยผู้นำเข้าจีนเริ่มชะลอสั่งซื้อสินค้าไตรมาส 2 รอดูสถานการณ์
- "คลัง" เตรียมเสนอ ครม. เคาะแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจอีกชุด จ่อชงขยายเวลายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึง มิ.ย. หวังประชาชนเอาเงินใช้จ่าย พ่วงมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว ชูไทยเที่ยวไทยต้านผลกระทบไวรัสโคโรนาหลังทำท่องเที่ยวสะดุด ต่างชาติเบรกเดินทาง
- ทอท.ลุ้นระทึกไวรัสโคโรนาจะควบคุมได้เมื่อไหร่หากยืดเยื้อเกินเดือนก.พ.ต้องปรับเป้าผู้โดยสารใหม่จากเดิมคาดขยายตัว 4-5% เพราะช่วงปลายเดือนม.ค.ติดลบแล้ว 4% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่สนามบินสุวรรณภูมิลดลงเฉลี่ยวันละ 3 หมื่นคน แต่หากจบเร็วเชื่อไม่กระทบเป้าหมาย
- หอการค้าไทยได้หารือกับสมาคมการค้าและผู้ส่งออกไทย เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกไทยในปี 63 เบื้องต้นคาดการณ์ว่า ไทยจะสามารถส่งออกได้ 241,894 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 1.77% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่ติดลบ 2.65% เพราะมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการส่งออก เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว, ภัยแล้ง, การแข็งค่าของเงินบาท, ไวรัสโคโรนา เป็นต้น ดังนั้น หากต้องการผลักดันให้ส่งออกไทยขยายตัวเป็นบวก หรืออย่างน้อยไม่ติดลบเมื่อเทียบกับปี 62 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนให้เงินบาทอยู่ระดับ 32 บาทต่อเหรียญ จากปัจจุบันที่เริ่มอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญแล้ว
*หุ้นเด่นวันนี้
- JMT (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า Bloomberg Consensus 23 บาท คาดแนวโน้มกำไรจะยังพุ่งทำ All time high ได้ทุกไตรมาสจากรายได้ของการเรียกเก็บหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามพอร์ตหรือฐานลูกหนี้ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพอร์ตหนี้ในการบริหารทั้งหมด 1.4 แสนล้านบาท สามารถสร้างกระแสเงินสดต่อเนื่องไปได้อีกอย่างน้อย 12 ปี
- TU (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 17 บาท ค่าเงินบาทอ่อนเป็นประโยชน์ต่อ TU มาก เพราะผลประกอบการที่ผ่านมาที่ไม่สดใสเป็นเพราะบาทแข็งเป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยอื่นควบคุมได้ดี ด้านกำไร Q4/62 ยังไม่สดใส (คาด 1.12 พันล้านบาท -19% Q-Q, -9% Y-Y) เพราะบาทแข็ง แต่จะกลับมาดีขึ้นตั้งแต่ Q1/63 เพราะราคาปลาทูน่าที่ลดลงใน Q4/62 และเริ่มขยับขึ้นปลายปี เป็นบวกต่อต้นทุนของ TU ส่วนอัตรากำไรปีนี้จะดีขึ้นจากการที่บริษัทเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับกลยุทธ์การขาย ลดค่าใช้จ่ายเข้มงวด และดอกเบี้ยลดลงจากการ refinance