นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการ 30% ทำให้เกิดสัญญาณการลงทุนที่มีทิศทางดีขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปี net holding ของ Non-resident น่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 70,000 ล้านบาท จาก 50,000 ล้านบาทในปี 50
"ข้อดีขอการยกเลิกมาตรการ 30% ทำให้ตลาดคาดว่าแบงก์ชาติอาจจะต้องยอมลดดอกเบี้ยลง เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐแคบลง ซึ่งขณะนี้พันธบัตรอายุ 5 ปีมีอัตราผลตอบแทนลดลงไปพอสมควรจึงเป็นจังหวะอันดีที่ทั้งกระทรวงการคลังและผู้ที่ต้องการออกตราสารหนี้จะสามารถระดมทุนได้โดยมีภาระดอกเบี้ยหรือต้นทุนที่ถูกลงในช่วงนี้" นายณัฐพล กล่าว
นอกจากนี้ จากนโยบายรัฐบาลที่จะใช้งบประมาณขาดดุลไปอีกอย่างน้อย 3-4 ปี ในส่วนนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับตลาดตราสารหนี้ของไทยทางอ้อม เพราะจะทำให้มีซัพพลายในตลาดเพิ่มขึ้น
หลังจากยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองนำเข้าระยะสั้น มีผลบังคับใช้ 3 มี.ค.ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยปรับตัวลดลงทันทีทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี มีการปรับตัวลดลงถึง 25 bp.เนื่องจากตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศจะปรับตัวลดลง จึงมีความต้องการลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้นและเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้น่าจะมากขึ้นเช่นกัน
ขณะที่ในวันดังกล่าวนักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการซื้อขายรวม 1,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่ามูลค่าการซื้อขายสุทธิเฉลี่ยต่อวันในปี 50 ร้อยละ 151 โดยในวันที่ 3 มีนาคม มีมูลค่าการซื้อสุทธิที่ 1,217 ล้านบาท และในวันที่ 4 มีนาคม นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 2,583 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการซื้อสุทธิที่ 1,235 ล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่านักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าซื้อสุทธิ (Net buy) ตั้งแต่ต้นปีจนถึง วันที่ 4 มีนาคม เท่ากับ 14,370 ล้านบาท โดยกว่า 50% เป็นการลงทุนในพันธบัตรระยะปานกลางถึงระยะยาว
ขณะที่ค่าเงินบาทเฉลี่ยในวันที่ 4 มีนาคม ปิดที่ 31.608 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจาก 31.548 บาท/ดอลลาร์ ในวันที่ 3 มีนาคม
--อินโฟเควสท์ โดย ตลฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--