KKP ตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 63 โต 7-9% เชื่อกลุ่มรายย่อย-อสังหาฯ ยังโตต่อเนื่อง แม้ลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.2%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 5, 2020 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 63 เติบโต 7-9% สูงขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 4.2% เป็นผลมาจากสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อรายย่อยที่ยังมีแนวโน้มเติบโตในปีนี้ ขณะที่ธนาคารยังคงมีการควบคุมคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นปี 62 ลดลงมาอยู่ที่ 4% จากสิ้นปี 61 ที่ 4.1%

ขณะเดียวกันปีที่ผ่านมาธนาคารยังครองอันดับ 1 ด้านงานวาณิชธนกิจที่มีธุรกรรมรายใหญ่หลายรายการ เช่น การเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) และธุรกิจ Wealth Management และธุรกิจจัดการกองทุน ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ในระดับสูงกว่า 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มีอยู่กว่า 4 แสนล้านบาท

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บล.ภัทร กล่าวว่า บริษัทปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 63 ลดลงเหลือโต 2.2% จากเดิมที่คาดโต 2.8%เนื่องจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนลดลงหลังจากรัฐบาลจีนสั่งห้ามให้ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวในและต่างประเทศแบบกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนถือว่ามีสัดส่วนสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ขณะเดียวกันงบประมาณปี 63 ที่มีความล่าช้า เพราะต้องรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ปัจจุบันการใช้งบประมาณล่าช้าไปแล้วถึง 4 เดือน กระทบต่อการเบิกจ่ายเม็ดเงินของโครงการต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในงบประมาณปี 62 ซึ่งในช่วง 4 เดือนนี้การเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณหายไปกว่า 20% หรือกว่า 2 แสนล้านบาท กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในไตรมาส 1/63

ปัจจัยดังกล่าวกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และจะต่อเนื่องในไตรมาส 1/63 ทำให้มีโอกาสเกิดการชะลอตัวค่อนข้างมาก ส่งผลให้แรงกดดันที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ที่นโยบายการเงิน ซึ่งในวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1% จาก 1.25% ก็จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเหลือต่ำกว่า 1.25% เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยลบ แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังต้องมีปัจจัยที่ช่วยพยุงจากนโยบายการคลังประกอบไปด้วย เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาดีขึ้นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ