นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า การดำเนินงานของกลุ่ม บมจ.ปตท.ในปีนี้ยังคงเผชิญกับปัจจัยท้าทายทั้งในส่วนของการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน แต่ทุกฝ่ายก็พยายามควบคุมสถานการณ์และหากดำเนินการได้ก็จะทำให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้น
แต่นอกจากนั้นยังมีสถานการณ์ภัยแล้งที่ยังมีความเสี่ยงจะส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท.ด้วย โดยเบื้องต้นกลุ่ม ปตท.ก็มีแผนลดการใช้น้ำลง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นรัฐบาล โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ก็ได้เข้ามาดูแลและบูรณาการทุกฝ่ายเพื่อให้มีน้ำเพียงพอ ทั้งการกักเก็บน้ำและผันน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ โดยคาดหวังว่าปริมาณฝนจะตกลงมาในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. ซึ่งจะทำให้สามารถผ่านพ้นปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมไปได้ในปีนี้
แต่ในระยะยาวเห็นว่าน้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องไม่ให้ขาดแคลนและมีความมั่นคง เหมือนเช่นไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ทั้งถนน และรถไฟ เบื้องต้นได้เสนอ กนช.ให้เปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อให้เอกชนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งควรอยู่ในพื้นที่แหลมฉบัง มาบตาพุด จ.ชลบุรี และระยอง ซึ่งบริษัทในกลุ่ม ปตท.มีความพร้อมทั้ง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และบมจ.ไทยออยล์ (TOP) แต่ขึ้นกับเงื่อนไขของ PPP
สำหรับการประมูลรูปแบบ PPP นั้น รัรฐบาลควรจะเข้ามาสนับสนุนในส่วนของการถมทะเล ,ที่ดิน ,ค่าภาษีต่าง ๆ เพราะการดำเนินโครงการมีต้นทุนที่สูง แต่มองว่าคุ้มค่าเพราะน้ำทะเลไม่ขาดแคลน
"ปีนี้ยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่ต้องดูถึงเดือนพฤษาฯ มิถุนาฯ ว่าฝนมาหรือไม่ ฝนมาต้องมาที่เหนืออ่างน้ำจะไหลลงที่อ่างแล้วมาตามท่อ ส่วนใหญ่อ่างน้ำที่ทำไว้จะมีฝนตกประมาณเดือนพฤษภา ถ้าไม่มีก็ต้องมาดูแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เรามีแหล่งน้ำสำรอง แต่บางครั้งก็ต้องไปเอาที่ลุ่มน้ำไหนแล้วบรรทุกเรือมา ก็จะมี cost และอาจไม่ต่อเนื่องก็จะลำบาก เราติดตามดูข้อมูลทุกวัน...เราพึ่งฟ้าฝนอย่างเกษตรไม่ได้ อุตสาหกรรมต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา เหมือนต้องมีไฟหล่อเลี้ยงตลอดเวลา และคงที่ เพราะฉะนั้นจะกระทบแน่นอน"นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมพึ่งพิงแหล่งน้ำจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ถ้าไม่มีน้ำจากแหล่งธรรมชาติก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมได้ โดยมองว่าหากสามารถผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้ในสัดส่วน 10-20% ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบในภาวะที่ขาดแคลนน้ำจากธรรมชาติลงได้บ้าง
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีนนั้น ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ทำให้ตกใจและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด รวมถึงการที่ทางการจีนมีคำสั่งห้ามไม่ให้คณะทัวร์จีนเดินทางออกนอกประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิของไทย ขณะเดียวกันทางจีนก็พยายามควบคุมเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ปกติ ซึ่งหากควบคุมได้ก็จะส่งผลให้เกิดการเดินทางอีกครั้ง ส่วนราคาน้ำมันและความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงในช่วงนี้ ไม่ใช่สาเหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเพียงอย่างเดียว แต่เริ่มจากปัญหาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนด้วย แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงทางการค้าในเฟสแรกแล้ว ก็เชื่อว่าจะมีเฟสต่อ ๆ ไป ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันยังขยายตัวได้ แต่อาจจะไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
ส่วนผลกระทบที่มีการปิดโรงงานหลายแห่งในจีนนั้นมีทั้งด้านบวกและลบ โดยอาจจะทำให้กำลังซื้อเม็ดพลาสติกจากจีนลดลงไป แต่ในแง่ของกลุ่มปตท.ได้ลดการพึ่งพิงตลาดจีนลงไปมากเหลือส่งออกไปจีนเพียง 30-40% จากเดิมที่ส่งออกไป 60-70% โดยหันส่งออกไปตลาดอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา เป็นต้น ขณะที่อาจเป็นโอกาสของไทยที่จะผลิตสินค้าทดแทนการผลิตจากจีนด้วยเช่นกัน
ด้านสถานการณ์ราคาปิโตรเคมีที่ปรับลงมาค่อนข้างมากแล้ว ทำให้อาจเห็นหลายโรงงานในยุโรปอาจค่อย ๆ ลดกำลังการผลิตถึงปิดตัวลง เพราะเป็นโรงงานที่ค่อนข้างเก่า ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ เมื่อเทียบกับโรงงานของกลุ่ม ปตท.ที่มีอายุราว 20-30 ปี และในปีนี้ก็จะเดินเครื่องผลิตเต็มที่หลังจากที่ได้หยุดซ่อมบำรุงส่วนใหญ่ไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยการผลิตของกลุ่มปตท.คิดเป็นส่วนน้อยราว 3-4% ของทั้งโลก และยังได้ส่งออกกระจายไปทั่วโลก ก็อาจจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มปตท.ด้วย
ส่วนการที่จีนมีแผนจะลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อผู้ผลิตในกลุ่มของปตท. ทั้ง PTTGC และบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) โดยเฉพาะ IRPC ที่ปัจจุบันมีแผนหันไปผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ (Specialties) มากขึ้น และกลุ่มปตท.ก็เริ่มเจรจากับบางประเทศในยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่มีเทคโนโลยี และวัตถุดิบ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตสินค้าประเภท Specialties เพิ่มเติมด้วย
ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในโหมดแข็งค่า ก็จะเป็นโอกาสในการลงทุนซึ่งก็จะเป็นการลงทุนตามแผนที่มีอยู่ โดยสิ่งใดที่จะลงทุนเพิ่มได้ก็จะลงทุนโดยทันที อย่างการร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 นั้น ก็คาดว่าจะมีการถมทะเลในปีนี้ ส่วนการร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หากมีความชัดเจนและภาครัฐประกาศการลงทุนได้ในช่วงไตรมาส 1-2 ปีนี้ ก็คาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ราคาหุ้นปตท.ที่ปรับลดลงมากในช่วงก่อนหน้านี้ ปตท.ก็ยังไม่มีแผนจะซื้อหุ้นคืน เพราะมองว่าการซื้อหุ้นคืนเป็นการสร้างดีมานด์ที่ไม่ถูกต้อง การซื้อขายหุ้นควรเป็นไปตามความต้องการของตลาดที่เข้ามาซื้อ และการซื้อหุ้นคืนแม้อาจจะทำให้มีกำไรส่วนต่าง (capital gain) แต่ก็ไม่ใช่กำไรที่แท้จริง โดยการสร้างกำไรที่แท้จริงควรมาจากการผลิต การลดต้นทุนซึ่งจะมีความยั่งยืน อย่างไรก็ตามปตท.ไม่ได้ปิดกั้นหากบริษัทลูกจะใช้นโยบายดังกล่าวเพราะการดำเนินงานขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้น และกรรมการของแต่ละบริษัท
ส่วนการที่ รมว.พลังงาน ให้ปตท.ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในช่วงนี้ที่มีราคาต่ำ เข้ามาใช้มากขึ้นเพื่อชะลอการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนั้น นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศอยู่ที่ราว 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาจากอ่าวไทยราว 70% มาจากเมียมา 15% และ LNG อีก 15% ซึ่ง ปตท.ในฐานะผู้ซื้อก๊าซฯ อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตก๊าซฯ เพื่อขอให้ลดปริมาณการส่งก๊าซฯให้ ปตท. ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะลดในปริมาณเท่าใดที่จะไม่เกิดผลกระทบต่อทุกฝ่าย โดยคาดว่าจะสรุปได้ไม่เกินไตรมาส 1/63
"เรามีสัญญาในเมียนมา ในอ่าวไทย จะเจรจาให้ลดลงมาได้บ้างไหม ถ้าลดลงมาได้ก็สามารถเอา LNG จากตลาด spot ที่มีราคาถูกเข้ามาได้ การลดปริมาณต้องคุยกับคนที่ได้รับสัมปทานการขุดเจาะ เพราะเขาลงทุนไปแล้ว ตอนนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะลดเท่าไหร่ จะลดตรงส่วนไหนได้บ้างแล้วไม่กระทบ และทุกคนเห็นด้วยควรลด คาดจะสรุปไม่เกินไตรมาสแรกปีนี้"นายชาญศิลป์ กล่าว
ด้านนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการผลิต บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า ขณะนี้ทางปตท.ยังไม่ได้มาเจรจากับบริษัท ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยมีการผลิตจากแหล่งบงกช และอาทิตย์ รวมกันราว 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำตามสัญญาซื้อขายอยู่แล้ว ขณะที่สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับปตท. ก็เป็นไปตามเงื่อนไข Take or Pay ที่หากผู้ซื้อไม่สามารถรับก๊าซธรรมชาติได้ครบตามปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา ก็จะต้องชำระค่าก๊าซธรรมชาติในส่วนที่ไม่ได้รับด้วย ทำให้ผลกระทบที่จะเกิดกับบริษัทไม่น่าจะมากนัก