นายเอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานในปี 2562 อินทัช สามารถทำกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 11,775 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2561 ที่มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 11,769 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้ผลกำไรที่ดีขึ้นของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส และรับรู้ผลขาดทุนจากบมจ.ไทยคม(THCOM) ทั้งนี้ อินทัชยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลส่วนใหญ่ที่บริษัทได้รับจากบริษัทร่วมและบริษัทย่อยหลังหักค่าใช้จ่าย โดยกำหนดจ่ายปันผลครึ่งปีหลังหุ้นละ 1.30 บาท ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 เมษายน 2563 ทำให้ในปี 2562 บริษัทจ่ายเงินปันผลรวมทั้งสิ้นในอัตรา 2.65 บาทต่อหุ้น"
เอไอเอส-ลูกค้าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มขึ้น โดยเอไอเอสมีผลกำไรสุทธิในปี 2562 ที่ไม่รวมผลกระทบของมาตรฐานบัญชีไทยฉบับที่ 15 อยู่ที่ 31,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการให้บริการหลักเพิ่มขึ้นร้อยะละ 5.3 เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบรายเดือนเพิ่มขึ้น 918,000 ราย ทำให้สิ้นปี 2562 เอไอเอสมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 42 ล้านราย เติบโตร้อยละ 2.1 จากปีก่อน ในส่วนของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เอไอเอสมีลูกค้าไฟเบอร์ประมาณ 1 ล้านราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับรายได้อื่นๆ ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์แก่ลูกค้าองค์กร ในส่วนของต้นทุนและค่าใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้นจากการขยายโครงข่าย 4G และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ค่าใช้จ่ายทางการตลาด รวมทั้งค่าใช้จ่ายพิเศษจากพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่จึงทำให้มีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA)ในปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และอัตรา EBITDA margin อยู่ที่ร้อยละ 42.8
ส่วนไทยคม ในปีที่ผ่านมา ไทยคมขาดทุนจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 432 ล้านบาท เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการดาวเทียม เนื่องจากการลดลงของราคาขายต่อหน่วยจากการให้ส่วนลดลูกค้าไทยเพื่อต่อสัญญาระยะยาว ประกอบกับการลดการใช้งานดาวเทียมบรอดแบนด์จากลูกค้าต่างประเทศ จึงทำให้ ณ สิ้นปี 2562 อัตราการใช้งานดาวเทียมแบบทั่วไปลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 55 ส่วนดาวเทียมบรอดแบนด์ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 23
จากสภาวะการชะลอตัวของอุตสาหกรรมดาวเทียม การแข่งขันที่รุนแรง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ดังนั้น ไทยคม จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายในการเป็นผู้ให้บริการด้านสมาร์ทโซลูชั่น และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีจากอวกาศสู่ภาคพื้นดินชั้นนำแห่งเอเชีย เพื่อเสริมสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจในอนาคต
สำหรับไฮ ช็อปปิ้ง – ยอดขายเติบโตต่อเนื่อง ไฮ ช็อปปิ้งมีรายได้รวมตลอดปี 2562 อยู่ที่ 937 ล้านบาท โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 2.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปีก่อน ทั้งนี้ เกิดจากการขยายฐานรายได้ผ่านหลายช่องทาง เช่น การทำธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการช่องดาวเทียม ช่องรายการโทรทัศน์ ช่องทางออนไลน์ และการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าโดยตรง
อินเว้นท์ – แสวงหาการลงทุนที่ต่อยอดเทคโนโลยี 5G ในอนาคต ในปี 2562 อินเว้นท์ใช้เงินลงทุน 111 ล้านบาท ใน 3 บริษัท คือ บริษัท ด็อกเตอร์เอทูแซด จำกัด ผู้พัฒนาและออกแบบแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยให้คนไข้เข้าถึงบริการทางการแพทย์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น 24 ชั่วโมงบนระบบออนไลน์ บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ จำกัด ผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินและออกแบบแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับนักลงทุนโดยตรงเพื่อช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการธุรกิจ และบริษัท นินจา โลจิสติกส์ พีทีอี ลิมิเต็ด ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุด่วนที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดความยุ่งยากในการส่งพัสดุ นอกจากนี้ ยังได้ขายหุ้นที่ลงทุนในบริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ร้อยละ 30 ทำให้มูลค่าพอร์ตการลงทุนภายใต้โครงการ อินเว้นท์ เติบโตขึ้นเป็น 1,058 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 เพิ่มขึ้นจาก 791 ล้านบาท ในปี 2561 ทำให้ ณ สิ้นปี 2562 มีบริษัทที่อยู่ภายใต้โครงการอินเว้นท์รวมทั้งสิ้น 15 บริษัท
ทั้งนี้ ในปี 2563 อินเว้นท์ยังคงนโยบายการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยี และธุรกิจดิจิทัลโดยเน้นการลงทุนไปยังบริษัทที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อรองรับการใช้งานและต่อยอดเทคโนโลยี 5G ในอนาคต ภายใต้งบลงทุนที่ 200 ล้านบาทต่อปี