GCAP วางเป้าสินเชื่อใหม่ปี 63 โต 20-30% เน้นขยายฐานลูกค้าสินเชื่อมีหลักประกัน-เช่าซื้อ ดันรายได้-กำไรโตต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 11, 2020 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสเปญ จริงเข้าใจ กรรมการผู้จัดการ บมจ.จี แคปปิตอล (GCAP) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 63 คาดว่ารายได้และกำไรสุทธิจะเติบโตต่อเนื่องจากปี 62 โดยวางเป้าหมายสินเชื่อใหม่ปี 63 ขยายตัว 20-30% เน้นขยายฐานลูกค้าในสินเชื่อที่มีหลักประกันและสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลักเพราะยังมีโอกาสเติบโตสูง

นอกจากนี้ที่ผ่านมาบริษัทยังได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และพิจารณาลูกค้าในมิติต่าง ๆ เช่น รายได้ ความสามารถในการชำระ โอกาสที่จะผิดนัดชำระ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพของลูกหนี้ของบริษัทดีขึ้น และช่วยลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

ขณะที่ผลประกอบการเฉพาะงบเดี่ยวของบริษัทในปี 62 มีกำไรสุทธิ 56.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.33 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 54.89 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ โดยมีรายได้รวมจำนวน 358.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.23 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 306.40 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยรับสินเชื่อนิติบุคคล และรายได้ค่าปรับล่าช้าจากสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน

บริษัทได้มีการขยายตลาดสินเชื่อเช่าซื้อผ่านพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร และภาคการท่องเที่ยว ให้มีความหลากหลายและครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ในปี 62 มียอดการปล่อยสินเชื่อใหม่รวมจำนวน 1,290 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ 57% และสินเชื่อส่วนบุคคลและนิติบุคคล 43% คิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มียอดปล่อยสินเชื่อรวม 1,180 ล้านบาท เนื่องจากในปี 62 บริษัทได้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ สบายใจแฟ็คตอริง ซึ่งเป็นประเภทสินเชื่อระยะสั้น เหมาะกับกิจการที่มีลูกหนี้การค้าไปขายให้กับบริษัทที่ทำแฟ็คตอริง เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายในกิจการระยะเวลาอันสั้น เป็นการนำบัญชีลูกหนี้การค้าที่ยังไม่ครบกำหนดวันรับเงิน มาหมุนเป็นเงินลงทุนก่อน และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ สินเชื่อมีหลักประกันจดจำนอง ซึ่งเป็นนิติกรรมรูปแบบหนึ่ง เพื่อเป็นการประกันชำระหนี้แก่ผู้จดจำนอง โดยทรัพย์สินจะยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับจำนองโดยทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ