นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารจะพิจารณาทบทวนปรับลดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 63 ลงต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดขยายตัว 2.5% หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งการปรับลดคาดการณ์ GDP ดังกล่าวก็จะส่งผลต่อการปรับลดเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ที่ตั้งไว้ 5-7% ในช่วงก่อนเกิดเหตุการระบาดของโควิด-19
"จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากในปัจจุบัน และกระทบต่อมุมมองตัวเลขการเติบโตของ GDP ไทยในปีนี้จะต้องปรับลดต่ำกว่าตอนนี้ที่มองไว้ขยายตัว 2.5% ทำให้เรากำลังประเมินสถานการณ์ในขณะนี้อยู่ และจะนำมาทบทวนเป้าหมายการขยายตัวสินเชื่อของกรุงศรีในปีนี้อีกครั้ง เพราะเป้าหมายเดิมเราตั้งไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาด ทำให้เราต้องปรับลดเป้าหมายสินเชื่อให้สอดคล้องกับ GDP ที่ปรับใหม่"นายเซอิจิโระ กล่าว
นายเซอิจิโระ กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างประเมินว่าธุรกิจสินเชื่อประเภทใดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อนำมาประเมินและปรับเป้าหมายให้สอดคล้อง ซึ่งเป้าหมายเดิมของกลุ่มธุรกิจสินเชื่อ แบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ เติบโต 4-6% สินเชื่อเอสเอ็มอี เติบโต 5-7% สินเชื่อรายย่อย เติบโต 5-7% โดยที่สินเชื่อรายย่อย แบ่งออกเป็น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เติบโต 6-8% สินเชื่อบ้าน เติบโต 4-6% สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์ ขยายตัว 4-6%
อย่างไรก็ตามในภาวะสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทย ธนาคารยังมองว่าสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่อยู่ระดับ 2% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีแรงกดดันจากโควิด-19 เข้ามากระทบ แต่ธนาคารจะพยายามควบคุม NPL ไม่เกิน 2.5% ในสิ้นปี 63
ส่วนการที่ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับลดลงเหลือ 1% ต่อปี ในปัจจุบันนั้น แม้ธนาคารจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่น เนื่องจากธนาคารมีการกระจายพอร์ตสินเชื่ออย่างสมดุล โดยมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรายย่อย 49% และสินเชื่อธุรกิจ 51%
นอกจากนี้การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการควบคุมการคิดค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินนั้น ธนาคารยอมรับว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคาร แต่ไม่มีนัยสำคัญมากนัก เพราในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้เจรจาและส่งข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธปท.มาโดยตลอด ซึ่งมองว่าในข้อบังคับการควบคุมค่าธรรมเนียมของธปท.บางอย่าง จะกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารบ้างเล็กน้อย แต่ไม่กระทบต่อเป้าหมายรายได้ค่าธรรมเนียมในปีนี้ที่ตั้งเป้าในช่วง -3% ถึง +3%
"เราพยายามทำผลการดำเนินงานของธนาคารในปีนี้ให้ดีขึ้น แม้ว่าธนาคารจะเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก แต่เราก็จะทำให้ดีที่สุด และเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้"นายเซอิจิโระ กล่าว