นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทวางเป้ารายได้ตั้งแต่ปีนี้จะเติบโตเฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 15% หลังจากจัดวางโมเดลธุรกิจชัดเจนขึ้น ทั้งแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ภายในปี 64 จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แตะ 2,500 เมกะวัตต์ (MW) โดยในส่วนนี้เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 2,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มี PPA ในมือราว 1,500 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วราว 1,000 เมกะวัตต์ และจะ COD เพิ่มเป็น 1,200 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 63
ส่วนแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการขยายงาน ยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มทุน เพราะการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้รับสัญญาซื้อขายระยะยาว 20-25 ปี ช่วยสร้างกระแสเงินสดได้ต่อเนื่อง รวมถึงยังสามารถระดมทุนด้วยการขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานได้เพิ่มเติม ตลอดจนการออกหุ้นกู้ นอกเหนือจากปัจจุบันที่พึ่งพิงเงินกู้เป็นส่วนใหญ่
ขณะที่การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ ยังมองโอกาสการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยในช่วง 1-2 ปีจากนี้จะโฟกัสที่เวียดนามเป็นหลัก รวมถึงไต้หวัน ก่อนจะหันไปมองที่อินโดนีเซียและญี่ปุ่นหลังจากนั้น
"วันนี้ Business model ค่อนข้างชัดเจน เรามีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้ระยะยาว มีสัญญา 20-25 ปี และมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อขายออกไปให้กองทุนฯ ตอนนี้เราขายไปแล้ว 118 เมกะวัตต์ ก็จะเกิดกำไรพิเศษได้ทุนคืนมาทันที โมเดลในการวาง cash flow วันนี้เราสามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน อย่างมากเราไปขายเพิ่มไม่ว่าจะให้ partner หรือกองทุน ก็ได้ทุนเดิมและกำไรเข้ามา การเติบโตคิดว่าในแง่โครงสร้างธุรกิจค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นผู้พัฒนาด้านพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นลม แสงอาทิตย์ หรือขยะ เป็น core business ของเรา ไม่ใช่จะไปทำก๊าซฯหรือถ่านหิน เรา pure fully renewable"นายจอมทรัพย์ กล่าว
ปัจจุบัน SUPER มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือราว 1,500 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์)ในไทยราว 700 เมกะวัตต์ ซึ่ง COD แล้วทั้งหมด , โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว 9.9 เมกะวัตต์ COD แล้ว ,โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.พิจิตร 9 เมกะวัตต์ เตรียมจะ COD ในเดือน มี.ค.นี้ , โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.หนองคาย 8 เมกะวัตต์ มีกำหนด COD ในปี 64 ,โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.เพชรบุรี 9.9 เมกะวัตต์ ยังไม่ได้ COD ขณะที่มีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 2 โครงการ ในจ.นนทบุรี 20 เมกะวัตต์ และจ.นครศรีธรรมราช 20 เมกะวัตต์ อยู่ในกระบวนการเพื่อดำเนินการให้ได้ PPA
ส่วนโครงการในต่างประเทศ ประกอบด้วย โซลาร์ฟาร์มในเวียดนามที่ดำเนินการเอง 236.72 เมกะวัตต์ และเพิ่งซื้อเพิ่มอีก 50 เมกะวัตต์เมื่อต้นปี 63 ทำให้มีกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์มรวม 286.72 เมกะวัตต์ ซึ่ง COD แล้วทั้งหมด, โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 4 โครงการ กำลังผลิตรวม 422 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ติดตั้งในทะเล 2 โครงการ รวม 172 เมกะวัตต์ และบนบกอีก 2 โครงการ รวม 250 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอย COD ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.64 ถึงเดือน ต.ค.64
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า แผนงานในปีนี้บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1.5 หมื่นล้านบาท โดยประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท จะใช้ทำโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามทั้ง 4 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 63-64 ขณะที่เงินลงทุนอีกราว 1 พันล้านบาทจะใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.หนองคาย
สำหรับแหล่งเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ และกลุ่มผู้รับเหมาโครงการ ขณะที่ส่วนน้อยมาจากเงินทุนของบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีเงินสดเพียงพอต่อการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือทั้งหมด
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า บริษัทมีเงินสดคงเหลือจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) จำนวนประมาณ 3 พันล้านบาท และเตรียมขายหุ้นทั้งหมด 33% ในบริษัท อินฟินิท อัลเทอร์เนทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (IAE) ซึ่งทำโซลาร์ฟาร์มในประเทศ ให้กับ บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เป็นเงิน 780 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นกำไรพิเศษในงวดไตรมาส 1/63 ด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังจะออกหุ้นกู้อีกราว 1 พันล้านบาท อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.2% ขายให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในช่วงวันที่ 18-20 ก.พ.นี้ เพื่อให้ตลาดมีความเคยชินต่อการที่บริษัทหันมาระดมเงินทุนผ่านการออกหุ้นกู้ จากที่เคยพึ่งพิงเพียงเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโตของบริษัทที่ต้องการปรับโครงสร้างทางการเงินให้ดีขึ้น โดยภายหลังการขายหุ้นกู้ครั้งนี้ก็จะทำให้มีภาระหนี้หุ้นกู้รวม 1.5 พันล้านบาท นอกเหนือจากภาระหนี้เงินกู้ที่มีกับสถาบันการเงินราว 3 หมื่นล้านบาท
สำหรับแผนการขยายงานในต่างประเทศระยะต่อไป ยังมองโอกาสที่เวียดนามเป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ฟาร์มค้างท่อที่มีอยู่ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ กำลังรอทางการรัฐบาลประกาศรับซื้อรอบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนก.พ.นี้ แม้เบื้องต้นคาดว่าราคารับซื้อจะลดลงจากเดิมราว 20% มาอยู่ที่ 7.09 เซนต์/หน่วย แต่ก็เชื่อว่าจะยังทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน(IRR) ของบริษัทยังอยู่ในกรอบ 13-15% ,โครงการไต้หวัน ซึ่งยังต้องพิจารณาเรื่องอัตราผลตอบแทนการลงทุนค่อนข้างมาก เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ 400-800 เมกะวัตต์ ทำให้อาจยังไม่มีความชัดเจนมากนัก
นอกจากนี้ยังมองโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ซึ่งมีนักลงทุนติดต่อให้บริษัทเข้าไปลงทุนขนาด 20-30 เมกะวัตต์ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจน โดยในช่วง 1-2 ปีนี้ก็จะโฟกัสที่เวียดนามเป็นหลักก่อน
"ต่างประเทศเรามองอยู่ 2-3 ตลาด ตอนนี้ที่เป็น HOT SPOT ในเอเชีย คือ เวียดนาม และไต้หวัน เราก็ดูอยู่แต่ยังไม่ได้เข้าไป แต่อีก 2-3 ปีหข้างหน้าถ้าเวียดนามสร้างเสร็จก็จะจบแล้วก็คงจะเหมือนเมืองไทยเพราะสร้างครั้งเดียวเยอะมาก เวียดนามคง active ปีนี้ถึงปีหน้า ปีถัดไปน่าจะอยู่ที่อินโดนีเซียและญี่ปุ่นที่เรามองอยู่...ปีนี้และปีหน้าก็จะยังยุ่งอยู่ที่เวียดนามและอาจจะมีไต้หวันเพิ่ม หลังจากนั้นอาจจะเป็น 2 ประเทศถัดไป"นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในไทย มองว่าการเติบโตยังค่อนข้างจำกัด หลังจากที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยเติบโตเพียงปีละ 2-3% แต่ก็ยังมองโอกาสการเข้าซื้อโครงการที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยมีผู้มานำเสนอขายต่อเนื่อง แต่ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความคุ้มค่าด้วย
ส่วนการเปิดรับซื้อใหม่ในปัจจุบัน โฟกัสอยู่ที่โรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งบริษัทรอดูหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าที่จะออกมาก่อนจึงจะสามารถสรุปว่าจะมีความสนใจเข้าร่วมลงทุนหรือไม่ และจะลงทุนอย่างไร นอกจากนี้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว ปี 2561-2580 (PDP 2018) จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนรอบใหม่อีก 400 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นโอกาสอย่างมากของบริษัท ที่ล่าสุดได้เจรจากับพันธมิตรต่อเนื่องเพื่อที่จะร่วมดำเนินการหากรัฐบาลเปิดรับซื้อไฟฟ้า
ขณะเดียวกันบริษัทยังมีโอกาสการลงทุนในลักษณะการขายไฟฟ้าจากพลังงงานแสงอาทิตย์แบบโดยตรงให้กับลูกค้า (Private PPA) ซึ่งปัจจุบีนมีอยู่ 2 โครงการ ที่ดำเนินการให้กับฟาร์มสุกร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) รวม 4.04 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ทยอยส่งมอบงานให้กับลูกค้าแล้ว และบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) ขนาด 33.24 เมกะวัตต์ ซึ่งยังมีความล่าช้าเพราะอยู่ระหว่างรอการส่งมอบพื้นที่จาก EASTW
"เรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน ยังตัดสินใจไม่ได้วันนี้เพราะยังไม่ชัดเจน ถ้าชัดเจนก็จะบอกได้ว่าจะทำเท่าไหร่ เรารอหลักเกณฑ์อยู่มีคนมาคุยกับเราเยอะมาก แต่มันไม่ง่ายเราก็รับฟังแต่ยังไม่มี commitment กับใครเพราะความชัดเจนยังไม่เกิด เช่น บอกว่าถ้าทำไบโอแมส 5 MW ทำโซลาร์ได้ 1 MW เราก็ต้องคิดว่าเราอยากจะเข้าไปหรือไม่ เพราะแต่ละคนการลงทุนไม่เหมือนกัน และเราเชื่อว่า วันนี้เราไม่ขาดโอกาสในการเติบโต ซึ่งเราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทและความถนัดของเรา"นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เติบโต 20-25% จากปีที่แล้ว ตามการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่ทยอย COD และรับรู้โครงการใหม่ที่ได้เข้าซื้อมาอย่างโครงการโซลาร์ฟาร์มเวียดนาม เป็นต้น
ส่วนราคาหุ้น SUPER ที่ยังอยู่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 บาท/หุ้นนั้น นายจอมทรัพย์ มองว่าเป็นไปตามภาวะปกติ และส่วนหนึ่งอาจมาจากการมีฟรีโฟลตมากถึงราว 50% ทำให้อาจจะยังไม่สมดุลมากนักเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่มีฟรีโฟลตราว 30% ขณะที่ปัจจุบันกลุ่มของตนถือหุ้นอยู่ราว 42% และอีกราว 8% ก็เป็นกลุ่มพันธมิตร