นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ต่างปรับตัวลงกันทั่วหน้า และดาวโจนส์ฟิวเจอร์สก็ติดลบ รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดฟิวเจอร์สก็ปรับตัวลงราว 1% ด้วย หลังแต่ละประเทศประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/62 ออกมาไม่ดี และไตรมาส 1/63 ก็คงจะไม่ดีต่อเนื่อง
รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังแพร่ระบาดอยู่แม้จะชะลอลงบ้างแต่คนก็ยังกังวล จากที่หลายฝ่ายมองว่าไวรัสโควิด-19 คงจะยืดเยื้อหลังยังไม่ชัดเจนว่าจะดีขึ้น อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ว่าการค้าโลกน่าจะได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่จะชะลอตัวในไตรมาส 1/63 ส่งผลให้ตลาดฯปรับฐาน
ทั้งนี้ ตลาดฯขาดปัจจัยหนุนทำให้การเคลื่อนไหวน่าจะเป็นลักษณะซึม ๆ ในช่วงรอดูการทอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนหุ้นเป็นรายตัวตามปัจจัยเฉพาะตัว และรอดูว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหรือไม่ รวมถึงดูว่าจะมีจะมีอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีกหรือเปล่า อีกทั้งให้รอติดตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 21 ก.พ.นี้
พร้อมให้แนวรับ 1,520 จุด ส่วนแนวต้าน 1,533 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (17 ก.พ.63) ปิดทำการเนื่องในวันประธานาธิบดีสหรัฐฯ
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 124.67 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 2.21 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 193.10 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 62.60 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 16.19 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 9.62 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 0.61 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 2.18 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (17 ก.พ.63) 1,527.25 จุด เพิ่มขึ้น 0.95 จุด (+0.06%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,107.76 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 ก.พ.63
- ตลาดไนเม็กซ์ล่าสุด (17 ก.พ.63) ปิดทำการเนื่องในวันประธานาธิบดีสหรัฐฯ
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (17 ก.พ.) อยู่ที่ 3.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.18/22 อ่อนค่าจากวานนี้ ตลาดไร้ปัจจัยใหม่ ยังกังวลการระบาดไวรัสโควิด-19
- สศช. หั่น "จีดีพี" ปีนี้เหลือโต 1.5-2.5% หลังไวรัสโคโรนากระทบเศรษฐกิจรุนแรง คาดฉุดนักท่องเที่ยววูบ 2.5 ล้านคน สูญรายได้ 1.5 แสนล้าน ประเมินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มิ.ย.นี้ ด้าน "แบงก์ชาติ" คาดปีหน้ากลับมาโตเกิน 3% ขณะศูนย์วิเคราะห์ ทีเอ็มบี ประเมินไตรมาสแรกส่อหดตัว 2% ส่วน "วิจัยกรุงศรี" ปรับ "จีดีพี" ปีนี้เหลือโต แค่ 1.5%
- 'เอ็กซิมแบงก์'คาดส่งออกไทยปีนี้ยังไม่กระเตื้อง ปรับลดตัวเลขเหลือติดลบ 2-0% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตถึง 2% หลังเจอปัจจัยรุมเร้าทั้งสงครามค้า-โควิด19-ภัยแล้ง ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โตแค่ 7-8% ไม่สูงมากนัก เหตุปัจจัยลบเพียบ หวังช่วยผู้ประกอบการ อยู่รอดก่อน ขณะปี'62 มีกำไร 507 ล้านบาท สินเชื่อคงค้าง 1.21 แสนล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ดำเนินงานมา
- แบงก์ฟันกำไรปี 2562 โตพรวด 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30.8% "แบงก์ชาติ" คาดปีนี้ปล่อยสินเชื่อโตไม่ต่ำกว่า 2% ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ประเมินโคโรนาไม่กระทบ
- "สรรพสามิต" แตะเบรกรีดภาษีความเค็มเบียร์ 0% หลังสาธารณสุขต้องระดมกำลังแก้ปัญหาไวรัสโคโรนาระบาด รับส่งผลกระทบจัดเก็บรายได้เดือน มี.ค. เหตุคนชะลอเที่ยว-บริโภค
- COVID-19 กระทบตลาดรถยนต์ไทย ปี 63 หดตัว 7-11% ขณะที่ยอดผลิตตก 6% ชิ้นส่วนได้รับผลกระทบ ด้านจีเอ็มถอนธุรกิจรถยนต์เชฟโรเลตออกจากตลาดของไทย
*หุ้นเด่นวันนี้
- BCPG (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 20 บาท กำไร Q4/62 ประกาศเร็ว ๆ นี้ คาดชะลอเล็กน้อย Q-Q แม้มีรายได้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A ในลาวเข้ามาแต่ชดเชย Low season ของโรงไฟฟ้าลมและโรงไฟฟ้าที่อินโดฯหยุดซ่อมไม่ได้ คาดกำไรปกติทั้งปี +14% เป็น 1.7 พันลบ. แนวโน้มกำไรปีนี้โตเร่งตัวขึ้น +20% จากรายได้เต็มปีของ Nam San 3A (69 MW) การ COD โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ญี่ปุ่น Kamagane (25 MW) และการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพที่อินโดฯหลังซ่อมบำรุงเสร็จและยังมีแผนขยายกำลังผลิต นอกจากอยู่ในช่วง Growth ยังคาดให้ Dividend yield 4-5% ต่อปี
- MCS (กรุงศรี) "ซื้อเก็งกำไร"เป้า Bloomberg consensus 12.8 บาท คาดกำไรสุทธิ Q4/62 เพิ่มขึ้นโดดเด่น จากการส่งมอบงานโครงสร้างเหล็กให้กับโครงการก่อสร้างในญี่ปุ่น ขณะที่ปีนี้คาดผลกำไรโตต่อเนื่องเพราะมีงานโครงสร้างเหล็กในมือรอส่งมอบอยู่แล้วกว่า 1.3 แสนตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 พันล้านบาท (2-3 ปีก่อนมีรายได้เฉลี่ย 3.2 พันล้านบาท) Valuation ไม่แพง P/E ต่ำเพียง 8 เท่าและให้ Dividend yield สูงประมาณ 6%ต่อปี
- AMATA (คิงส์ฟอร์ด) "ทยอยซื้อสะสม"เป้า 25 บาท ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงมาสะท้อนปัจจัยลบจากยอด Presale ในปีก่อนที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ค่อนข้างมากแล้ว หากมองภาพของปี 2563 ปัจจัยบวกที่รออยู่คือรายได้จากทางฝั่งนิคมเวียดนามที่น่าจะเริ่มรับรู้เข้ามาหลังจากปีก่อนติดปัญหาเรื่องใบอนุญาตนิคมที่หมดอายุและอยู่ในขั้นตอนการต่อใหม่ นอกจากทางฝั่งเวียดนามแล้ว นิคมที่พม่า (ย่างกุ้ง) ก็เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้นหลังการลงนามในสัญญากิจการร่วมค้าเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะและนิคมอุตสาหกรรมในเขตย่างกุ้ง ในส่วนของ Backlog ของทาง AMATA ที่ส่งต่อมายังปี 63 คาดอยู่ที่ระดับ 2.6 พัน ลบ. และน่าจะโอนได้ในปีนี้ประมาณ 70% สำหรับผลการดำเนินงานปี 62-63 โดยประเมินกำไรสุทธิที่ระดับ1.86 พัน ลบ. และ 1.84 พัน ลบ. +83%YoY และ -1%YoY ตามลำดับ