บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) คาดว่าจะเปิดให้บริการ 5G อินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ไร้สายประจำที่ในไตรมาส 2/63 หลังจาก DTAC ประมูลคลื่นความถี่ 26 GHz ได้มาจำนวน 200 MHz และจะเปิดให้บริการ 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz ในไตรมาส 4/63 โดยจะขยายโครงข่ายเพื่อเพิ่มครอบคลุมใช้งาน 5G โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ซึ่งจะเริ่มติดตั้งโครงข่ายในช่วงครึ่งหลังปีนี้
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทประมูลคลื่น 26 GHz จำนวน 2 ใบอนุญาต รวม 200 เมกะเฮิร์ซ ทำให้บริษัทมีความพร้อมคลื่นความถี่ที่มีครบทั้งคลื่นย่านความถี่ต่ำ 900 MHz , 700 MHz คลื่นความถี่กลาง 2300 MHz (ทำโรมมิ่งกับทีโอที) 2100 MHz และ 1800 MHz รวมถึงคลื่นย่านความถี่สูง คือ 26 GHz
ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ DTAC เลือกประมูลเฉพาะคลื่น 26 GHz และยืนยันว่ามีคลื่นเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการลูกค้าที่คาดว่าการใช้งานดาต้าตะเติบโตกว่า 50% ในปี 63 จากปีก่อนที่มีปริมาณการใช้ดาต้าเฉลี่ยต่อคน 16 Gbps/เดือน นอกจากนี้ ลคลื่น 26 GHz ยังเป็นคลื่นที่สามารถเพิ่มประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าด้วยความเร็วสูง และเป็นมาตรฐาน 5G ที่ใช้ในยุโรป เช่น เยอรมัน อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส
"การได้คลื่นความถี่ย่านความถี่สูงมาเพิ่มในชุดคลื่นความถี่ของ DTAC ที่มีความพร้อมในคลื่นย่านความถี่ต่ำและความถี่กลาง จะทำให้เราส่งมอบประสบการณ์ใช้งานคุณภาพสูงสู่ลูกค้าดียิ่งขึ้น และพัฒนาต่อไปในอนาคต"นายชารัด กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวอีกว่า บริษัทยังขยายโครงข่ายสำหรับการใช้งาน 4G คลื่น 2300 MHz ที่ให้บริการบนคลื่นของทีโอทีเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 63 จะขยายสถานีฐานให้บริการ 4G คลื่น 2300 MHz ให้เป็นมากกว่า 20,000 สถานี จากปัจจุบันมีอยู่ 17,000 สถานี ภายใต้งบลงทุนไม่น้อยกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทในการขยายโครงข่ายทั้ง 4G และ 5G
ขณะที่ DTAC คาดว่าให้บริการ 5G บนคลื่น 26 MHz ที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ที่อินเตอร์เน็ตบ้านยังไปไม่ถึง ส่วน 5G บนคลื่น 700 MHz คาดว่าเปิดให้บริการในไตรมาส 4/63 ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคาดว่าจะมีอุปกรณ์ที่รองรับ 5G ออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน
ฉะนั้น การดำเนินธุรกิจในปีนี้ DTAC มุ่งมั่นจะยกระดับประสิทธิภาพโครงข่ายเพื่อลูกค้าทุกคน นอกจากจะเปิดบริการ 5G แล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายปัจจุบันเพื่อสัญญาณขยายครอบคลุมการใช้งาน และเพิ่มประสิทธิภาพการรับส่งดีขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า โดยเร่งขยาย Massive MIMO เทคโนโลยีความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศ
นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี DTAC กล่าวว่า บริษัทได้เลือกประมูล 26 GHz และเลือกย่านความถี่ด้านขวาสุดที่อยู่เหลื่อมกับ 28 GHz จำนวน 2 บล็อก ซึ่งปัจจุบันคลื่น 28 GHz นำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ที่เกาหลีใต้แล้ว ขณะที่บริษัทไม่เลือกประมูลคลื่น 2600 MHz เพราะมีคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งเป็นคลื่นในกลุ่มเดียวกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คลื่นความถี่ 2300 MHZ ที่โรมมิ่งใช้กับบมจ.ทีโอที ซึ่งมีอายุการใช้งานถึงปี 68 ซึ่งเชื่อว่าจะมีการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ DTAC มีคลื่นอยู่ในมือทั้งหมด 330 MHz ต่ำกว่ารายอื่น โดยบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) มีจำนวนคลื่นทั้งหมด 1,450 MHz และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มีจำนวนคลื่น 1,020 MHz