นายบุญ ชุน เกียรติ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ชีวาทัย (CHEWA) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 63 ที่ 2 พันล้านบาท เติบโตจากปี 62 ที่มีรายได้ 1.15 พันล้านบาท โดยบริษัทจะรับรู้รายได้จากยอดขายรอโอน (Backlog) เข้ามาในปีนี้ 796 ล้านบาท จาก Backlog ทั้งหมด 1.57 พันล้านบาท
บริษัทมั่นใจผลการดำเนินงานในปี 63 จะพลิกกลับมามีกำไร จากปี 62 ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน 55.06 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานขาดทุนในปีก่อนเป็นผลมาจากการที่บริษัทไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จใหม่โอนในปี 62 เพราะการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมเกิดความล่าช้า โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม ฮอลล์มาร์ค จรัญ 13 ที่วางแผนจะโอนในช่วงปลายปี 62 ต้องเลื่อนการโอนมาในช่วงไตรมาส 1/63 ทำให้แผนการโอนโครงการในปีก่อนถูกเลื่อนมาปีนี้
ในปีนี้จะมีคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จและเริ่มโอนจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการชีวาทัย ฮอลล์มาร์ค จรัญ 13 มูลค่า 430 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 1/63, โครงการชีวาทัย เกษตร-นวมินทร์ มูลค่า 1.7 พันล้านบาท จะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/63 และโครงการชีวาทัย เรสซิเดนซ์ ทองหล่อ มูลค่า 1 พันล้านบาท จะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/63 ซึ่งทั้ง 3 โครงการจะช่วยสนับสนุนรายได้ของบริษัทให้เติบโตขึ้นจากปีก่อน 73% โดยที่ระดับรายได้ที่บริษัทสามารถคุ้มทุนและมีกำไรได้อยู่ที่ 1.5-1.7 พันล้านบาท/ปี
ขณะที่บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่ 4 โครงการในปีนี้ มูลค่าโครงการรวม 3.6 พันล้านบาท แบ่งเป็น แนวราบ 3 โครงการ มูลค่า 2.26 พันล้านบาท ได้แก่ โครงการชีวาโฮม กรุงเทพ-ปทุม มูลค่าโครงการ 903 ล้านบาท จะเปิดตัวในไตรมาส 1/63 , โครงการชีวาโฮม รังสิต-ปทุม มูลค่า 1.09 พันล้านบาท จะเปิดตัวในไตรมาส 2/63 และโครงการฮาร์ท สุขุมวิท 36 มูลค่าโครงการ 270 ล้านบาท ซึ่งการร่วมทุนที่บริษัทถือหุ้น 70% เปิดตัวในไตรมาส 1/63
นอกจากนั้น บริษัทยังจะเปิดตัวคอนโดมิเนียมอีก 1 โครงการ ได้แก่ โครงการชีวาทัย อินเตอร์เชนจ์ ลำสาลี มูลค่าโครงการ 1.33 พันล้านบาท ในช่วงไตรมาส 4/63
ทั้งนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนซื้อที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการของปีนี้จำนวน 858 ล้านบาท
นายบุญ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 63 ประเมินว่าจะยังไม่สดใสมากนัก เนื่องจากแนวโน้มตัววัดภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ที่ลดลง หนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับมาตรการควบคุมสินเชื่อ LTV หรือการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อของลูกค้าที่ซื้อโครงการของบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้มาอยู่ที่ 50% จากเดิมที่ 10-20% ส่งผลให้บริษัทมีผลกระทบในการโอนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้
อีกทั้งยังมีการแข่งขันที่สูงต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดยังคงลงมาเล่นในตลาดระดับกลาง ที่เป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศ และมีการทำสงครามราคากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อมาทดแทนผลกระทบจากมาตรการ LTV ที่กระทบต่อกลุ่มลูกค้าระดับบน กลุ่มลูกค้านักลงทุน และชดเชยกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่หายไปจากตลาดค่อนข้างมาก ซึ่งจะเห็นว่าผู้ประกอบการรายใหญ่นำงบการตลาดมาใช้การทำราคาและการทำการตลาดมากขึ้นเพื่อระบายสต็อกของคอนโดมิเนียม ซึ่งทำให้การขายของบริษัทเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมากต่อเนื่องในปีนี้
นายบุญ กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทเตรียมความพร้อมของลูกค้าล่วงหน้า โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม ฮอลล์มาร์ค จรัญ 13 ที่ปัจจุบันได้ให้ลูกค้าทยอยให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อ ซึ่งมีเพียงลูกค้า 1 รายที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อ ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียม ฮอลล์มาร์ค จรัญ 13 มียอดขายแล้ว 30-40%
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเห็นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่แท้จริงอยู่ ขณะที่การชะลอตัวของตลาดคอนโดมิเนียมทำให้บริษัทต้องปรับแผนเปิดโครงการใหม่มาเน้นโครงการแนวราบเป็นหลัก เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากตลาดคอนโดมิเนียมที่ชะลอตัวต่อเนื่อง
สำหรับโครงการร่วมทุนในจ.ภูเก็ต เป็นโครงการพักอยู่อาศัยสำหรับวัยเกษียณ ระดับลักชัวรี่ แบรนด์ Otium ซึ่งเปลี่ยนชื่อจาก KAMALA SENIOR LIVING เริ่มขายไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ.63 ลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี โครงการนี้เป็นการร่วมทุนของ 4 บริษัท คือ ชีวาทัย, นายณ์ เอสเตท, บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN), บมจ.ช.การช่าง (CK) ถือหุ้นสัดส่วน 25%
นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสในทางธุรกิจจากการร่วมทุนกับพันธมิตรอื่นๆ โดยเฉพาะพันธมิตรจากต่างประเทศที่สนใจเข้ามาร่วมทุนพัฒนาโครงการในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้หรือไม่ เพราะในปีก่อนบริษัทเจรจากับพันธมิตร แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจร่วมลงทุน
ขณะที่บริษัทมีแผนการออกหุ้นกู้ชุดใหม่มูลค่า 1.2 พันล้านบาท อายุ 2 ปี ในช่วงเดือน ก.ย. 63 เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนด และเพื่อรองรับสภาพคล่องและการลงทุนของบริษัท โดยปีนี้บริษัทคาดว่าจะลงทุนก่อสร้างโรงงานให้เช่าแบบ Ready Build ในระยองเพิ่มอีก 4 โรง เงินลงทุน 100 ล้านบาท จากเดิมที่มี 10 โรง หลังจากเห็นความต้องการใช้โรงงานในพื้นที่ EEC มากขึ้น และมีลูกค้าเตรียมเข้ามาเช่าในส่วนที่สร้างใหม่แล้ว
"ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายอีกหนึ่งปี ซึ่งเราจะต้องระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น และจากปัจจัยดังกล่าวมองว่ายังจะเป็นโอกาสในการใช้กลยุทธ์สร้างระบบการทำงานภายในให้แข็งแกร่งเพื่อเตรียมความพร้อม เช่น การศึกษาและสำรวจการเลือกซื้อที่ดินและทำเลที่ตั้งโครงการใหม่ๆ การออกแบบและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างความแตกต่างด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานและความหลากหลายให้ลูกค้าได้เลือกสรรมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพราะว่าในปัจจุบันความต้องการของลูกค้าได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทำให้เราจึงเน้นเรื่องนี้เป็นสำคัญ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย"นายบุญ กล่าว