บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทวางงบลงทุน 2 หมื่นล้านบาทในปีนี้เพื่อใช้ดำเนินงานโครงการที่ลงทุนแล้วต่อเนื่องและซื้อกิจการเพิ่มเติม พร้อมตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต 780 เมกะวัตต์ และลงทุนโครงการระบบสาธารณูปโภคให้ถึง 5% ของเงินลงทุนปีนี้ รวมทั้งศึกษาการลงทุนในโครงการด้านนวัตกรรมที่เป็นธุรกิจ New S-Curve และ เตรียมเข้าร่วมโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) ระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐด้วย
นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทคาดหมายว่าจะสามารถสรุปการเจรจาเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศได้ประมาณ 5 โครงการ
ส่วนการร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M8) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งบริษัทเข้าร่วมประมูลในนามกิจการร่วมค้า BGSR คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในกลางปีนี้
ขณะที่เป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิต 780 เมกะวัตต์ ได้รวมกำลังการผลิต 720 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้ไตรเอนเนอจี้ที่จะปลดจากระบบในปีนี้แล้ว โดยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง กำลังการผลิต 714 เมกะวัตต์ ที่ได้ลงทุนแล้วจะเข้ามาทดแทนกำลังผลิตดังกล่าว
"บริษัทฯ ได้จัดสรรเงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทสำหรับสานต่อโครงการที่ลงทุนไว้แล้วและการซื้อกิจการเพิ่มในปีนี้ บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการบรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น 8,715.07 เมกะวัตต์" นายกิจจา ศรีพัทฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าว
แผนการลงทุนทั้งปีบริษัทฯ ตั้งเป้าลงทุนซื้อกิจการไว้ที่ 5 โครงการ โดยจะมุ่งเน้นโครงการประเภท Brownfields มากขึ้น เพื่อให้สามารถรับรู้ผลตอบแทนจากการลงทุน หรือรับรู้รายได้เข้ามาทันที โดยมีความสนใจในโครงการส่วนขยายโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น, โครงการโรงไฟฟ้าประเภท SPP, โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศ โดยมีความสนใจในประเทศอินโดนีเซีย, เวียดนาม หรือในประเทศอาเซียน, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในต่างประเทศ มีความสนใจในประเทศอินโดนีเซีย และลาว รวมถึงโครงการพลังงานทดแทน โดยเป้าหมายหลัก คือประเทศเวียดนาม, ลาว, อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
นายกิจจา กล่าวถึงความคืบหน้าการเข้าลงทุนซื้อกิจการ (M&A) ในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศ จำนวน 1 โครงการว่า คาดว่าจะเห็นความชัดเจนการเข้าลงทุนในไตรมาส 1/63 ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้า SPP โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรในการลงทุน เบื้องต้นคาดใช้เงินลงทุนไม่เกิน 5,000 ล้านบาท
สำหรับงบลงทุนปีนี้แบ่งเป็นการใช้ซื้อกิจการ ราว 10,000 ล้านบาท และใช้ในการพัฒนาโครงการเดิมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 10,000 ล้านบาท โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากกระแสเงินสดและการออกหุ้นกู้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดของวงเงินได้ แต่เบื้องต้นได้มีการขออนุมัติวงเงินจากผู้ถือหุ้นไว้แล้ว 15,000 ล้านบาท เพื่อนำมารองรับการลงทุนในโครงการใหม่ และลดต้นทุนดอกเบี้ยลงเหลือ 2% จากปัจจุบันอยู่ราว 4%
นายกิจจา กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างและพัฒนาอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย กำลังการผลิตรวม 23.99 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 40%) คาดแล้วเสร็จเดือน ก.ย.63, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังการผลิตรวม 149.94 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 70%) คาดแล้วเสร็จเดือน ก.ย.63, โครงการร่วมทุนในบริษัท Things on Net เพื่อลงทุนพัฒนาระบบเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม รองรับการให้บริการ IoTs โดยปีนี้มีแผนติดตั้งสถานีฐาน (Base Station) 1,400 จุด และตั้งเป้ามีจำนวนบัญชีที่ 50,000 บัญชี และโครงการลงทุนในบริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด ร่วมกับ บมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT) พัฒนาระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสงใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาหาลูกค้า
รวมทั้งยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนเรียว ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 145.15 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 49%) คาดแล้วเสร็จเดือนพ.ค.64, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเลกเตอร์ กำลังการผลิต 226.80 เมกะวัตต์ คาดแล้วเสร็จเดือน ม.ค.64, โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังแชงกัง กำลังการผลิต 236 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 10%)
และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่คาดแล้วเสร็จปี 64 แต่น่าจะทยอยเปิดให้ใช้บริการเป็นช่วงๆก่อน, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปีนี้ รวมถึงโครงการร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M8) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งบริษัทเข้าร่วมประมูลในนามกิจการร่วมค้า BGSR คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในกลางปีนี้
ขณะที่ความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริษัทนวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ของ กฟผ. โดยมี RATCH การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ถือหุ้นในสัดส่วน 30:40:30 ตามลำดับ และมีวงเงินลงทุนรวม 600 ล้านบาท คาดจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติและเริ่มดำเนินการได้ในช่วงกลางปีนี้
ด้านความคืบหน้าการจัดหาก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรหลายราย รวมบมจ.ปตท (PTT) ด้วย คาดว่าไม่เกินเดือน เม.ย.63 จะสามารถสรุปได้ว่าจะมาจากแหล่งใด
ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้ นายกิจจา คาดว่า แนวโน้มน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 43,220.07 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,963.28 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้ในโครงการโรงไฟฟ้าเข้ามาเต็มปี ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น กำลังการผลิต 99.23 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 35%) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย สปป.ลาว กำลังการผลิต 410 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 25%) รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น กำลังการผลิต 119.15% (บริษัทถือหุ้น 99.97%)
ขณะเดียวกันยังเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในโครงการโรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย กำลังการผลิต 23.99 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 40%) คาดแล้วเสร็จเดือนก.ย.63 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ประเทศออสเตรเลีย กำลังการผลิต 149.94 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 70%) คาดแล้วเสร็จเดือนก.ย.63 นอกจากนี้ยังรับรู้รายได้ และส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในการเข้าลงทุนซื้อกิจการตามแผนที่วางไว้ด้วย
"ถ้าเรามีการซื้อกิจการที่ COD อยู่แล้วเข้ามา ก็จะทำให้เราสามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที ขณะเดียวกันในโครงการที่พัฒนาเอง ก็จะเน้นในโครงการที่ใช้เวลาในการดำเนินการไม่นานมาก หรือราว 2-3 ปี เพื่อรับรู้รายได้เข้ามาไวขึ้น ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวก็น่าจะทำให้แนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง ดูได้จากผลประกอบการในปีที่ผ่านมา" นายกิจจา กล่าว