รายงานข่าวบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริษัทวันนี้ (19 ก.พ.) ซึ่งมีนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท.เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภุมิ (ทสภ.) กำหนดอายุสัญญาระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2573
ทั้งนี้ นอกจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ปีแรกสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมายแล้ว ค่าตอบแทนดังกล่าวจะถูกปรับขึ้นทุกปีให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่อ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์ และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร (ระหว่างประเทศ) ตลอดอายุสัญญา ทั้งนี้ ทอท.จะเปิดให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรรายอื่นตามนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันมิให้เกิดการผูกขาดในการดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ทอท.มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติทั้งในด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งโรคนี้ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขทั่วโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจชาติและความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวของประเทศ
สำหรับแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการภายในท่าอากาศยานของ ทอท. เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของผู้โดยสาร อันเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการปรับลดค่าตอบแทนด้านกิจการเชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยาน โดยมีระยะเวลาระหว่าง 1 กุมภาพันธ์ 2563 – 31 มีนาคม 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นการบริหารจัดการตารางบินที่ได้เริ่มใช้ไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย
1. ปรับลดค่าผลตอบแทนสำหรับสัญญาที่มีผลตอบแทนคงที่รายเดือนในอัตราร้อยละ 20 เป็นระยะเวลา 1 ปี ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 – 31 มกราคม 2564 สำหรับปีถัดไป ทอท.จะทบทวนอัตราการปรับลดดังกล่าวอีกครั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์
2. สำหรับสัญญาที่ไม่ได้มีผลตอบแทนคงที่ ได้มีการให้ยกเว้นการเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน และผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี โดยคงไว้เพียงผลตอบแทนในอัตราร้อยละ ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 – 31 มีนาคม 2565 3. สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมทุนของรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 พิจารณาเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ในระยะวิกฤต คณะกรรมการ ทอท.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง สำหรับผู้ประกอบการปัจจุบันที่ร้องขอการผ่อนผันเข้ามา เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน พร้อมทั้งยกเว้นค่าปรับจากการขอเลื่อนชำระ ภายหลังจากได้รับผลกระทบจากยอดผู้โดยสารที่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ ในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว จนอาจนำไปสู่การยกเลิกกิจการ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานท้องถิ่นและอัตราการว่างงานของประเทศได้
นอกจากการช่วยเหลือทางด้านสังคมและเศรษฐกิจแล้ว ทอท.ยังมีมาตรการสนับสนุนด้านสุขภาพของประชาชน โดยสนับสนุนงบประมาณในวงเงิน 21.82 ล้านบาท ให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดซื้อเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยระบบอินฟราเรด (Thermoscan) จำนวน 17 เครื่อง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานไปจนถึงการรับมือโรคติดต่อสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต นำไปสู่ความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยวไทย