บมจ. โซลาร์ตรอน (SOLAR) คว้างานประมูลขายเซลล์แสงอาทิตย์ ให้ กฟผ.มูลค่า 95 ลบ. ต่อจากงานของกรมพลังงานทดแทน พร้อมเดินหน้าขยายตลาดต่อเนื่องโดยเฉพาะธุรกิจพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ มั่นใจรัฐบาลใหม่เร่งเดินเครื่องฟื้นเศรษฐกิจ โดยเร่งผลักดันงานออกสู่ตลาดมากขึ้น นับเป็นโอกาสพลิกกลับมาทำกำไรอีกครั้ง หวังสิ้นปีปั๊มรายได้เข้าเป้า 500-750 ลบ.
นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SOLAR เปิดเผยว่า บริษัทชนะงานประมูลขายเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ใช้ติดตั้งในโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 891 กิโลวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มูลค่า 95 ล้านบาท เข้ามาเพิ่มอีก 1 โครงการ จากที่ก่อนหน้านี้บริษัทฯได้รับงานประมูลจากภาครัฐเข้ามาบ้างแล้ว อาทิ งานจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทน มูลค่า 13 ล้านบาท งานจากโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีงานในโครงการขนาดใหญ่จากภาครัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการอย่างชัดเจน รวมถึง SOLAR ด้วย
"ขณะนี้เราได้รับจดหมายตอบรับ จาก กฟผ.เรียบร้อยแล้วว่า SOLAR เป็นผู้ชนะการประมูลขายเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดคลิสตัลไลน์ ซิลิคอน จำนวน 891 กิโลวัตต์ ให้กับ กฟผ. หลังจากที่ได้เปิดให้มีการประมูลด้วยวิธี e-Auction (การเสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา เป็นจำนวนเงิน 95 ลบ. ซึ่งถือเป็นงานใหญ่งานแรกที่ได้รับในปีนี้ และเชื่อว่าในปีนี้น่าจะได้เห็นงานต่างๆ ออกสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะงานจากภาครัฐ หลังจากที่ได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทฯ อย่างมาก เนื่องจากในช่วงที่งานรัฐชะลอตัว SOLAR ได้ปรับมารับงานเอกชนมากขึ้น ดังนั้นถ้ามีงานออกมาทั้งภาครัฐและเอกชนจะทำให้สามารถรับได้ทั้งคู่ซึ่งถือว่าเป็นผลดีอย่างชัดเจน"
นางปัทมา กล่าวต่อว่า ในปีนี้ บริษัทฯ จะให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจครอบคลุมพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ จากในอดีตที่รายได้หลักมาจากืท มธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ แต่เพียงอย่างเดียว อาทิ พลังงานลม พลังงานความร้อน และพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่น เนื่องจากปัจจุบันประชาชนหันมาสนใจการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนจะดำเนินการในลักษณะร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในพลังงานแต่ละประเภท หลังจากที่ได้เริ่มทดลองขยายธุรกิจร่วมกันกับพันธมิตรในพลังงานทดแทนประเภทลมจากเยอรมนีมาแล้วในปี 2550
นอกจากนั้น SOLAR วางแผนขยายฐานตลาดให้กว้างขึ้น โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา พม่า หรือลาว โดยขณะนี้ได้เริ่มเข้าไปเปิดตลาดในกลุ่มประเทศเหล่านั้นบ้างแล้ว และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งอาจจะนำไปสู่การร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นชัดเจนขึ้นในระยะยาว
"การปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าในปีนี้จะเห็นผลประกอบการของ SOLAR ปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม " นางปัทมากล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา/นิศารัตน์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 322 อีเมล์: nisarat@infoquest.co.th--