นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) กล่าวว่า บริษัทคาดรายได้รวมปี 63 จะทำได้ 10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 10,040.40 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนมาจากยอดโอนกรรมสิทธิ์โครงการ 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม ประมาณ 6,000 ล้านบาท และแนวราบ 3,000 ล้านบาท
ส่วนที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาท มาจากรายได้อื่นๆ ประกอบด้วย ค่าเช่า และการบริการ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดให้บริการอาคารสำนักงานเช่าบนทำเลวิภาวดี และการเพิ่มขึ้นของผู้เช่าในโครงการคอนโดมิเนียม ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1
ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ในมือ มูลค่ารวมกว่า 3,600 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 3,000 ล้านบาท และแนวราบ 600 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ยังมีสินค้าพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ (สต็อก) ในมือรวมมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม ประมาณ 9,000 ล้านบาท และ แนวราบ ประมาณ 1,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขาย (Presale) ในปี 63 ที่ 10,000 ล้านบาท โดยมีแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ 9 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น แนวราบ 4 โครงการ และ คอนโดมิเนียม 5 โครงการ ซึ่งปัจจุบันมีที่ดินรองรับการพัฒนาแล้วทั้งหมด
โดยในไตรมาส 1/63 จะเปิดตัวโครงการใหม่ 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 4,400 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการ ลุมพินี เพลส เตาปูน อินเตอร์เชนจ์ (Lumpini Place Taopoon Interchange) มูลค่า 1,900 ล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียม 736 ยูนิต จะเปิดขายในวันที่ 7 มี.ค.63, โครงการ บ้านลุมพินี สุขุมวิท-ศรีนครินทร์ (Baan Lumpini Town Place Sukhumvit–Srinakarin) มูลค่า 750 ล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยว 133 ยูนิต และโครงการแนวราบในทำเลพหลโยธิน-สะพานใหม่ มูลค่า 750 ล้านบาท ประมาณกว่า 100 ยูนิต
ขณะที่ บริษัทตั้งงบลงทุนรวมปีนี้ไว้ที่ 4,000 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อที่ดินรองรับการพัฒนาในอนาคต และใช้สำหรับลงทุนเข้าซื้อโครงการที่ประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันบริษัทเปิดโอกาสการลงทุนทุกรูปแบบ ทั้งการซื้อกิจการ (M&A) และการร่วมทุน (JV)
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/63 คาดว่าน่าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเห็นได้จากในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.63) มียอดขายแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีก่อนเป็นช่วงก่อนเริ่มบังคับใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อ (LTV) ที่มีการเร่งการตัดสินใจซื้อและโอนกรรมสิทธิ์
ด้านภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ บริษัทมองว่าอาจจะทรงตัวถึงปรับตัวลดลง เป็นไปตามปัจจัยลบหลายในปัจจัย ทั้ง โควิด-19, ปัญหาหนี้ครัวเรือน, ซัพพลายล้นตลาด, การเปิดตัวโครงการในปี 62 ที่น้อย, อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และราคาที่ดินสูง