นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SME ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีในปี 63 ที่ 5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ปล่อยไป 5.8 หมื่นล้านบาท ปัจจัยของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ และกระทบมาถึงผู้ประกอบการต่าง ๆ ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อในบางกลุ่มธุรกิจที่ลดลงไป โดยแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วงไตรมาส 1/63 คาดว่าจะปล่อยได้ 6-7 พันล้านบาท
ขณะเดียวกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่กระทบต่อลูกค้าเอสเอ็มอี มีผลต่อแนวโน้มของพอร์ตสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารที่คาดว่าจะลดลงราว 1-2% จากปีก่อนปีก่อนที่ 2.6 แสนล้านบาท เพราะสินเชื่อใหม่ปล่อยได้ลดลง และธนาคารยังต้องมีการช่วยเหลือและเยียวยาลูกค้า ทำให้ลูกค้ายังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในภาวะที่มีความท้าทายค่อนข้างมากเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารกับลูกค้าสามารถผ่านพ้นปัจจัยกดดันที่เข้ามากระทบไปได้ แม้ว่าในปีนี้ธนาคารคาดว่าจะมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นมาที่ 8.6% จากปีก่อนที่ 8.3% ก็ตาม
"สิ่งที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจตอนนี้มองว่าเป็น Cycle มีขึ้นมีลง ซึ่งเป็นธรรมดาที่จะเกิดขึ้นได้ แต่เรายังไม่เห็นสัญญาณที่น่ากังวลที่จะกระทบต่อระยะยาว ในระยะสั้นอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง แต่เราก็ต้องร่วมมือกับลูกค้าในการช่วยเหลือกัน มีทีมงานที่คอยพูดคุยกับลูกค้าอยู่ตลอด ช่วยให้เขาสามารถทำธุรกิจต่อได้"นางพิกุล กล่าว
โดยธนาคารได้ออก 3 มาตรการ ในการช่วยเหลือลูกค้า ได้แก่ ช่วยพัก ช่วยขาย ช่วยลดต้นทุน ช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้กระทบโดยตรงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยชะลอการเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน ซึ่งธนาคารมีพอร์ตลูกค้าเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจโรงแรม 300 แห่ง วงเงินสินเชื่อ 1.3 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าแล้ว 70% หรือครอบคลุมวงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท โดยการพักชำระหนี้ในเบื้องต้น 6 เดือน และพร้อมที่จะพิจารณาขยายการพักชำระหนี้เพิ่มเติม
สำหรับ 3 มาตรการ ที่ธนาคารออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 1.ช่วยพัก โดยธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินโดยพักชำระเงินต้นให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นเวลานานสูงสุด 12 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระเบื้องต้นให้กับผู้ประกอบการ
2.ช่วยขาย โดยธนาคารร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) จัดงาน SCB เที่ยวไทย ไปด้วยกัน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเปิดให้ผู้ประกอบการกว่า 50 ราย ที่ได้รับผลกระทบเสนอขายแพ็กเกจ มอบส่วนลดสูงสุดถึง 60% สำหรับโรงแรม ที่พัก โปรแกรมท่องเที่ยว ร้านอาหาร ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยโดยตรง
นอกจากนี้ธนาคารยังมอบสิทธิประโยชน์เพิ่ม สำหรับผู้ใช้จายผ่านบัตรเครดิตของธนาคาร ใช้คะแนนเท่ายอดซื้อแลกรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 15% ขณะเดียวกัน ธนาคารยังวางแผนที่จะต่อยอดกิจกรรมโดยจัดโรดโชว์ไปยังองค์กรพันธมิตรต่างๆ เช่น โอสถสภา ปูนซิเมนต์ไทย เป็นต้น
3.ช่วยลดต้นทุน โดยธนาคารพยายามใช้ระบบนิเวศทางธุรกิจที่วางไว้มาช่วยลูกค้า โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนในระยะยาว ผ่านการทำ business matching เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการโรงแรมท่องเที่ยวจับคู่เจรจาธุรกิจกับกลุ่มคู่ค้าทางธุรกิจ เช่น Online Travel Agent ชั้นนำที่จะช่วยเปิดประตูให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ
ทั้งนี้จากข้อมูล Economic Intelligence Center (EIC) ประเมินว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีนี้ลดลงเหลือ 37 ล้านคน หรือลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทยในด้านอื่นๆ เช่น ภาคการส่งออก ภาคการผลิต รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ EIC ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ลงเหลือ 1.8% จากเดิมคาด 2.7% โดยธนาคารจะติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าทั้งมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน และความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติม