นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 63 เติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,073.19 ล้านบาท โดยบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปีจากการเข้าลงทุนใน ALP FPI PARTS PRIVATE LIMITED (ALP FPI) 100% และปัจจุบันบริษัทตุนงานในมือ (Backlog) มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ทั้งหมด
นอกจากนี้บริษัทยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มเข้ามาจากค่ายรถยนต์อีกมาก อาทิ โตโยต้า ไดฮัทสุ มิตซูบิชิ และมาสด้า เป็นต้น ซึ่งอยู่ในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และญีปุ่น เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้โรงงานในประเทศจีนไม่สามารถเดินสายการผลิตได้ ซึ่งโรงงานของบริษัทผลิตสินค้าในกลุ่มเดียวกับโรงงานในประเทศจีน
"เรามองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในไทยไม่ดี แต่อย่างไรก็ตามเรายังคงมีการเติบโตเนื่องจากเรามีการรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปีของบริษัทในประเทศอินเดีย และเรายังได้รับผลดีจากไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้โรงงานในประเทศจีนไม่สามารถเปิดสายการผลิตได้ รวมไปถึงสงครามทางการค้าระหว่างประเทศจีน และประเทศสหรัฐ ที่ทำให้คำสั่งซื้อมายังประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1/63 นี้ที่โดยปกติแล้วจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ ซึ่งในปีนี้คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยจะสามารถเติบโตได้ราว 3%"นายสมพล กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ราว 146 ล้านบาท เพื่อที่จะใช้ในการเพิ่มไลน์การพ่นสีที่เป็นระบบออโตเมชั่น ซึ่งช่วยสามารถลดต้นทุนการผลิต และผลิตได้มากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในไลน์การผลิตเดิมๆด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานปี 62 มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 186.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.78% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิเท่ากับ 125.55 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 2,073.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.99 % จากงวดเดียวกันปีก่อนมีรายได้รวม 1,919.74 ล้านบาท
นายสมพล กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในปี 62 เนื่องจากยอดขายต่างประเทศภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 17% จากการขายให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย สอดคล้องกับยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 23% จากงาน OEM ของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ไดฮัทสุ มิตซูบิชิ และมาสด้า BT50 โดยบริษัทขายสินค้าผ่านบริษัทในประเทศไทย เพื่อส่งออกไปในประเทศญี่ปุ่นและอื่น ๆ
นอกจากนี้รายได้โซนอเมริกาใต้เพิ่มขึ้น 19% จากลูกค้ารายใหญ่มีการขยายสาขาเพิ่มเติม อีกทั้งบริษัทมีนโยบายขายสินค้าให้ลูกค้ารายเดียวที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงในบางประเทศทำให้เพิ่มยอดขายลูกค้าโซนดังกล่าวได้ในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีการรับรู้รายได้และกำไรที่เป็นส่วนแบ่งจากการลงทุนในบริษัทร่วม คือ บริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (SAFE) ในฐานะบริษัทร่วมค้าของ FPI ที่ถือหุ้น 33.37% ใน SAFE ซ่งปัจจุบันสามารถรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ขนาด 7.5 เมกะวัตต์
ขณะที่บริษัทยังสามารถบริหารโดยควบคุมต้นทุนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ดีแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่า ทำให้ยังรักษาความสามารถการทำกำไรไว้ได้
"สำหรับผลงานปีที่ผ่านมา บริษัททำได้ดีและเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัวแต่บริษัทยังรักษาการเติบโตได้ทั้งรายได้และกำไร ดังนั้น ทำให้มั่นใจว่าในปี 63 จะยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง"นายสมพล กล่าว