ก.ล.ต.เปิดแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีสอดรับบริบทที่เปลี่ยนแปลงตอบโจทย์ทุกภาคส่วนและประเทศชาติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 26, 2020 09:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) วาง 4 เป้าหมายตอบโจทย์การพัฒนาทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อน 7 แผนยุทธศาสตร์ปี 2563-2565 มุ่งเน้นการเข้าถึงตลาดทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างความสามารถในการแข่งขัน และการกำกับดูแลที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนระดับรอง

นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในยุคที่ภูมิทัศน์ของตลาดทุนไทยเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วและซับซ้อน ก.ล.ต. จะต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง การกำหนดทิศทางและนโยบายจำเป็นต้องสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล เพื่อไปสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง

แผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. จึงกำหนดจากประเด็นหลัก คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การสร้างโอกาสการเข้าถึง การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความน่าเชื่อถือ และจะต้องนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ คือ แนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า"การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ ก.ล.ต.ได้คำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบัน แนวโน้มและความท้าทายในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ตลาดทุนทำหน้าที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ และถือเป็นครั้งแรกที่การจัดทำแผนมุ่งเน้นความสอดคล้องกับทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) รวมถึงแผนแม่บท 23 ประเด็น และนโยบายรัฐ 12 ด้าน

โดย ก.ล.ต. พร้อมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเป้าหมายหลัก 4 ด้าน คือ ยั่งยืน-เข้าถึง-แข่งได้และเชื่อมโยง-เชื่อถือได้ และเพื่อให้สามารถบรรลุผลตามเป้าหมาย ก.ล.ต. ได้กำหนด "แผนองค์กรเข้มแข็ง" ด้วยคำจำกัดความ "DECIDE" กล่าวคือ Delegate-Empowerment-Communication- Integration-Development-Engagement ในการร่วมกันสร้างองค์กร ก.ล.ต. ให้มั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกับตลาดทุนไทย

นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวในหัวข้อ "เปิดมิติใหม่ของการระดมทุน" ว่า ก.ล.ต. ต้องการเปิดกว้างให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถระดมทุนได้ โดยวางแนวทางกำกับดูแลด้วยหลักการเปิดเผยข้อมูล (disclosure) เพื่อไม่ให้เป็นต้นทุนกับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มการระดมทุนในช่องทางที่เหมาะกับผู้ลงทุนยุคใหม่ พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และมีแผนที่จะดำเนินงานด้านการให้ความรู้การลงทุนแก่ประชาชนทุกกลุ่ม

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงหัวข้อ "เสริมสร้างความพร้อมแข่งขัน สร้างภูมิคุ้มกันวัยเกษียณ" ว่า การเสริมสร้างความพร้อมในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ก.ล.ต. จะลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของตัวกลาง ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุน ขณะเดียวกันมีแผนที่จะส่งเสริมการออมเพื่อวัยเกษียณผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สร้างภูมิคุ้มกันสำหรับวัยเกษียณ

นายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ ก.ล.ต. บรรยายในหัวข้อ "เตรียมพร้อมให้เท่าทันอาชญากรรมเศรษฐกิจยุคดิจิทัลเพื่อความเชื่อมั่นตลาดทุน" ว่า ระบบการกำกับดูแลในยุคดิจิทัล ก.ล.ต. ต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันและการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้วยหลัก "4จ: หาให้เจอ จับให้ได้ จบให้เร็ว เจ็บให้จำ" เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุน

นายกำพล ศรธนะรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวในหัวข้อ "ก.ล.ต. สู่องค์กรดิจิทัลเพื่อตลาดทุน" ว่า ก.ล.ต. ปรับเปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัลโดยนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงาน พร้อมกับสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลาง (shared infrastructure) เพื่อเชื่อมต่อให้ภาคธุรกิจทั้งรายเดิมและรายใหม่สามารถต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และมีการซักซ้อมเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถจัดการความเสี่ยงได้

นอกจากนี้ ยังมีเสวนาในหัวข้อ "มุมมองต่อแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต." โดยได้รับเกียรติจากนายสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานบรรณาธิการ วารสารการเงินธนาคาร ผศ.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ร่วมสะท้อนมุมมองต่อแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2563 – 2565

ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. เชิงบวกและกล่าวชื่นชมว่ามีความครบถ้วนรอบด้าน พร้อมทั้งเสนอแนะ ก.ล.ต. ให้ส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงการลงทุนด้วยการให้ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และสนับสนุนให้บริษัทที่จะเข้าระดมทุนมีความพร้อมและมีความเข้าใจในการเป็นบริษัทมหาชน รวมทั้งควรเพิ่มเติมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาตลาดทุนที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ปี 2563-2565 ทั้ง 7 ด้าน มีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืน (Ecosystem for sustainable capital market) ส่งเสริมให้ผู้ระดมทุนเห็นประโยชน์และสามารถผนวก ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจ และเปิดเผยข้อมูลผ่าน one-report ส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อความยั่งยืน เช่น Green Bond และ Social Bond พร้อมกับสนับสนุนให้มีผู้ทำหน้าที่ประเมินในไทย (local reviewer) และจัดทำมาตรฐานด้าน ESG รวมทั้งผลักดันให้มีศูนย์รวมข้อมูล ESG ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน จัดทำแผนด้านความยั่งยืนภาคการเงินและตลาดทุน ซึ่งรวมถึงด้านสิทธิมนุษยชนให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน

(2) ส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขทางการเงินในระยะยาว (Financial well-being) มุ่งให้ความรู้ทางการเงินเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการออมและการลงทุนอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดผ่านช่องทางที่เหมาะสม สนับสนุนมาตรการการลงทุนเพื่อรองรับการเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และผลักดันการลงทุนผ่านกองทุนรวม รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การลงทุนระยะยาว

(3) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (SMEs/Startups Growth & financing) โดยมีเครื่องมือให้ SMEs และ Startups สามารถเลือกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับประเภท ขนาดและการเติบโตโดยออกหลักเกณฑ์รองรับการระดมทุน เปิดทางให้กิจการดังกล่าวสามารถเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพแก่ผู้ลงทุนโดยตรงและการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะ SMEs/Startups ที่มีศักยภาพและความพร้อม

(4) เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างโอกาสจากความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ (Enabling regulatory framework & connectivity) โดยปรับปรุงกฎเกณฑ์ (Regulatory Guillotine) ลดขั้นตอน กระบวนการ และต้นทุนที่ไม่จำเป็น รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจ และปรับเกณฑ์ใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ยังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจด้วยการมีบทบาทในเวทีโลก เป็นพันธมิตรกับองค์กรระหว่างประเทศและตลาดทุนชั้นนำ ตลอดจนมีบทบาทในการเป็นสปริงบอร์ดให้กับตลาดทุนกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV springboard) เพื่อช่วยยกระดับการเติบโตของภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ เช่น การผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการในตลาดทุนระหว่างกันได้อย่างเป็นรูปธรรม

(5) ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพตลาดทุนและยกระดับการกำกับดูแล (Digital for capital market) พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการเข้าถึงตลาดทุน ปรับปรุงกฎเกณฑ์การทำความรู้จักลูกค้า (e-KYC) รวมทั้งจัดทำ single form เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ลงทุนสามารถเปิดบัญชีได้เร็วและง่าย และทบทวนความเหมาะสม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อีกทั้งยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber resilience)

(6) เพิ่มศักยภาพในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนไทย (Effective enforcement) เดินหน้ายกระดับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการกระทำผิดและบังคับใช้กฎหมาย ( E-enforcement) โดยพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อรองรับการกำกับดูแลการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การตรวจจับความผิดปกติ การชี้พฤติกรรมและพิสูจน์รวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกับสนับสนุนการใช้สิทธิดำเนินคดีแบบกลุ่ม และจัดตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายของผู้ลงทุน กรณีได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ

(7) ติดตามประเมินความเสี่ยงเชิงระบบได้อย่างเท่าทัน (Systemic risk) เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้ลุกลามไปในวงกว้าง โดยการพัฒนาฐานข้อมูลให้สามารถติดตามและประเมินความเสี่ยงเชิงระบบ การจัดทำแผนฉุกเฉินรองรับวิกฤตซึ่งเชื่อมโยงกับผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนและหน่วยงานกำกับดูแลอื่น และมีแผนดำเนินการกรณีเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนและภาคการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ