PTTGC คงเป้ายอดขายปี 63 โต 10% ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น, เล็งสรุปโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ มิ.ย.-ก.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 26, 2020 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายในปี 63 เติบโต 10% เนื่องจากบริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% แม้ว่าธุรกิจกว่า 80% เป็นสินค้า Commodity โดยในไตรมาสแรกปี 63 ที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในจีน ที่ช่วง 1-2 เดือนแรกยอดขายลดลงไป ซึ่งเริ่มเห็นความชัดเจนหลังขยายเวลาหยุดช่วงตรุษจีน ขณะที่บริษัทได้กระจายตลาดออกไปก่อนหน้า ได้แก่ ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย เป็นต้น ทำให้วันนี้บริษัทมีความยืดหยุ่นด้านการทำตลาด ทั้งนี้ ก็คาดว่าในช่วงต้น-กลางไตรมาส 2/63 สถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 น่าจะคลี่คลาย

สำหรับค่าการกลั่น (GRM) ปี 63 คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 4-5 เหรียญฯ/บาร์เรล สูงกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 3.8 เหรียญฯ/บาร์เรล จากที่การกลั่นน้ำมันเตาไม่มีสารกำมะถัน ทำให้มาร์จิ้นสูงขึ้นและเป็นตัวดึงค่าการกลั่นสูงขึ้น และส่วนต่างปิโตรเคมีน่าจะอยู่ประมาณ 400-450 เหรียญฯ/ตันที่กลับมาใกล้เคียงปีก่อน โดยขณะนี้สเปรดผลิตภัณฑ์ HDPE รีบาวด์ขึ้นมาที่ 300 เหรียญฯ/ตัน ขึ้นมาจากไตรมาส 4/62 ที่ 200-250 เหรียญฯ/ตัน ส่วนสเปรดผลิตภัณฑ์พาราไซลีน และพีทีเอ ไม่ค่อยดี เพราะมีกำลังการผลิตใหม่ขึ้นมาอาจจะกดดันมาร์จิ้นและ EBITDA

อย่างไรก็ตามคาดว่าในไตรมาส 2/63 จะกลับมาดีขึ้น เพราะมีรายงานว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจีนไม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ในปีนี้ไม่มีจากปีก่อนที่ปิดไป 50 กว่าวัน

"ปีนี้ volume สูงขึ้นจากปีก่อน 10% สิ่งที่เกิดไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องไม่ได้คาดคิด เราคาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาส 1 ถึงต้นหรือ กลางไตรมาส 2/63 ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ครึ่งปีหลังคาดว่าจะกลับมาในสิ่งที่ควรจะเป็น ถ้าปีนี้ Volume เรามากขึ้น ธุรกิจการกลั่น GRM น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว "

นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทก็ตั้งเป้าจะลดค่าใช้จ่าย ในการบริหารจัดการประมาณ 5% จากปีก่อนที่ปรับลดลงไปได้ 10%

ด้านนายปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวว่า เดือนม.ค.ยอดขายใกล้เคียงปีก่อนแต่ในเดือนก.พ.ยอดขายลดลงจากปีที่แล้ว บริษัทจึงได้ switch ตลาดที่บริษัทได้เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้วที่เวียดนามและอินโดนีเซีย จากปีก่อนที่ตลาดจีนรับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งได้ขายตรงกับโรงงานในเวียดนาม ทำให้มียอดขายส่วนนี้เพิ่มเข้ามากว่า 40% ของยอดขายในเวียดนาม ขณะที่มีสัดส่วนยอดขายในจีน 25-27%ของยอดขายรวม ในปีที่แล้ว และในช่วงต้นปี 63 สัดส่วนลดลง 1-2% แต่ตลาดจีนก็มีการสั่งซื้อบ้างแต่ไม่มาก และมีโอกาสกลับมาสั่งซื้อหากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย

แม้ว่าในปีนี้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ไม่มีปัญหาการตลาด โดยปัจจุบันขายในประเทศ 50% และส่งออกต่างประเทศ 50% เพราะต้นทุนการผลิตปิโตรเคมีของ PTTGC สามารถแข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม ยอดขายเพื่มขึ้นจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง เพราะกำลังการผลิตใหม่จะเริ่มในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 นี้

PTTGC เชื่อว่า จุดต่ำสุดของปิโตรเคมีผ่านไปแล้ว คาดว่าจะค่อยๆไต่ราคาขึ้นมาได้ หากไม่มีสถานการณ์อื่นเข้ามา เหมือนสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุม

ทั้งนี้ กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาในปีนี้ ได้แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (Olefins Reconfiguration Project (ORP)) มีกำลังการผลิตเอทิลีน 5 แสนตันและโพรพิลีน 2.5 แสนตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าแล้ว 85% คาดจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายไตรมาส 4/63 มูลค่าโครงการประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท

โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide:PO) และ โครงการโพลีออลส์ (Polyols) เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ 2 แสนตันต่อปี และผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ 1.3 แสนตันต่อปี มูลค่าโครงการ 3.4 หมื่นล้านบาท คทาดจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/63 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 85%

นายคงกระพัน กล่าวอีกว่า การลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ คาดว่าจะสรุปได้ในช่วงเดือน มิ.ย. –ก.ค.63 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาธนาคารที่จะกู้ลักษณะ Project Finance คาดว่าจะจบได้กลางปีนี้ และจะตัดสินใจเรื่องการลงทุน โดยขณะนี้ได้เตรียมพร้อมผู้รับเหมา ใบอนุญาตต่างๆ ทั้งนี้การลงทุนในสหรัฐถือว่าเหมาะสมซึ่งมีแหล่งวัตถุดิบที่ต่ำ และมีตลาดใหญ่ โดยมีที่ตั้งโรงงานอยู่ทางตอนเหนือของสหรัฐ อยู่ใกล้ผู้ใช้ โครงการนี้ บริษัทมีเป้าหมายเพื่อเป็น second Home Base ของบริษัท เพราะโครงการนี้มีความได้เปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันด้านวัตถุดิบ โดยมีแหล่งวัตถุดิบอีเทน ทำให้มีต้นทุนต่ำ ทั้งนี้มีกำลังการผลิตเอทิลีน 1.5 ล้านตันต่อปี HPDE/LLDPE/mLLDPE 1.6 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้จากการที่บริษัทได้ร่วมลงทุนบริษัทในสหรัฐที่ผ่านมา ทำให้เห็นโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ(M&A) โดยปัจจุบันได้จัดตั้งสำนักงานในสหรัฐ เพื่อมองหาโอกาสการเข้าซื้อกิจการ โดยสนใจธุรกิจปลายน้ำ (downstream) ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี

นายคงกระพัน กล่าวว่า บริษัทได้ตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ (ปี 63-67) ประมาณ 2 แสนล้านบาท หรือใช้ลงทุนประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท/ปี ที่ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว 10 ปีถึงปี 73 จะลงทุนในต่างประเทศมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 93% และในประเทศ 7% จากปีนี้มีการลงทุนในต่างประเทศ 70% และในประเทศ 30% ทั้งนี้รวมการเข้าซื้อกิจการด้วย ปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน 0.3 เท่า ซึ่งบริษัทมีความสามารถกู้ได้ถึง 2 แสนล้านบาท และมีเงินสดในมือ 3 หมื่นล้านบาท

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTGC ได้ประกาศทิศทางการดำเนินงานในปี 63 โดยยึดหลักนโยบายสานต่อ ต่อยอด"ผ่านกลยุทธ์ 3 Step คือ Step Change ที่จะก้าวเป็นผู้นำด้วนการสานต่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับฐานการผลิตปัจจุบันของบริษัทที่มาบตาพุด จ.ระยอง และลงทุนในพื้นที่ EEC เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในระดับภูมิภาค , Step Out โดยสานต่อการขยายธุรกิจแห่งที่ 2 ที่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านวัตถุดิบ หรือการเติบโตของตลาด เช่นโครงการลงทุนปิโตรคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ และ Step Up สานต่อแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการดำเนินธุรกิจคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม

สำหรับมาตรการที่จีนจะแบนพลาสติกนั้น นายคงกระพัน กล่าวว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีเป้าหมายที่จะยกเลิกการผลิต HDPE Film for Single-use Plastics ให้หมดภายในปี 65 และวางแผนขยายตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมุลค่าเพิ่ม (HVP) ในช่วงปี 65-68 เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาค CLMV ที่มียอดขายมากกว่า 2.5 แสนตันต่อปี

สำหรับตลาดจีนนั้น ในปี 62 บริษัทมียอดขายเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีน (PE) ในตลาดจีนประมาณ 6.2 แสนตันต่อปี จำนวนนี้เป็น HDPE ประมาณ 1.86 แสนตันต่อปี โดยเป็น HPDE Film ประมาณ 7.6 หมื่นตันต่อปี ขณะที่ บริษัทจัดแผนการลด HDPE Film for Single-use Plastics ตั้งแต่ปี 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ