นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานกรรมการบริหาร และ กรรมการผู้อำนวยการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PLANET) เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายจะผลักดันผลประกอบการปี 63 ให้มีรายได้เติบโต 10% และกำไรขั้นต้นสูงขึ้น โดยเพิ่มรายได้จากกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Emerging Technology Business) ประกอบด้วย Cloud Meeting Platform สำหรับการทำงานที่บ้าน (Work at Home) เพื่อรับมือวิกฤติไวรัส COVID-19, IoT Platform สำหรับพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City), TeleHealth Platform สำหรับกิจกรรมด้านสาธารณสุข และ Cyber Security Platform เพื่อรองรับกฎหมายด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะบังคับใช้ในกลางปี
ทั้งนี้ บริษัทยังคงจำหน่ายอุปกรณ์และระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบถ่ายทอดสัญญาณดิจิทัลทีวีให้กับฐานลูกค้าเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มสร้างรายได้หลัก อีกทั้งเพิ่มรายได้จากกลุ่มลูกค้าใหม่ ทำให้มีการสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน บริษัทมีงานในมือ (Backlog) แล้วประมาณ 300 ล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 62 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการจำนวน 835.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น11.40% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มียอดขายสินค้าและบริการที่ 749.66 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น 85.30 ล้านบาท และรายได้จากการบริการเพิ่มขึ้น 0.19 ล้านบาท รายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้นมาจากการที่บริษัทมีการขายสินค้าโครงการใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านบาท
บริษัทมีรายได้อื่นจำนวน 14.06 ล้านบาท ลดลง 0.57 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้อื่นจำนวน 14.63 ล้านบาท รายได้อื่นมาจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและรายได้ดอกเบี้ย ส่งผลในปี 62 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 849.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.92 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวมเท่ากับ 764.29 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.11%
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 1 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.12% ของรายได้รวม เมื่อเทียบกับปี 61 มีกำไรสุทธิ 5.88 ล้านบาท หรือ 0.77% ของรายได้รวม แต่เมื่อพิจารณาถึงผลประกอบการที่แท้จริงแล้ว ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานที่แท้จริง เพราะบริษัทตั้งสำรองทางบัญชีสำหรับผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ 3 ล้านบาท และสำรองหนี้สูญ จำนวน 2 ล้านบาท
ขณะที่ต้นทุนขาย 679.80 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81.40% ของรายได้จากการขายสินค้าและบริการเทียบกับปี 61 ซึ่งมีต้นทุนขายเท่ากับ 586.46ล้านบาท หรือ 78.23% ของรายได้จากการขายสินค้าและบริการ ต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 4.05% สาเหตุมาจากต้นทุนสินค้าของโครงการใหญ่สูงกว่าสินค้าที่ขายโดยทั่วไป และโครงการอื่น ๆ ที่ขายในปี 62 โดยเฉลี่ยแล้วมีต้นทุนที่สูงกว่าปี 61