โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ไทยออยล์ (TOP) หลังคาดผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และจะเริ่มฟื้นตัวในปี 63 จากฐานที่ต่ำมากในปีก่อน แม้ตลาดน้ำมันยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยยังลุ้นค่าการกลั่นฟื้นตัวหากสถานการณ์คลี่คลาย ขณะที่ระยะสั้นไตรมาส 1/63 ผลประกอบการยังมีแนวโน้มอ่อนแอ แต่ด้วยราคาหุ้นปรับลดลงมากจนทำให้ปัจจุบันมี Valuation ค่อนข้างถูก และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลดี ทำให้ยังน่าสนใจลงทุน
พักเที่ยงราคาหุ้น TOP อยู่ที่ 43.25 บาท ลดลง 1.75 บาท หรือ 3.89% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.37%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) กสิกรไทย ซื้อ 70.00 ทิสโก้ ซื้อ 80.00 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 69.00 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 70.00 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 66.50 ทรีนีตี้ ซื้อ 76.00
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่าผลประกอบการของ TOP ไตรมาส 4/62 มีกำไรสุทธิราว 2 พันล้านบาท สูงกว่าตลาดคาด จากการกลับรายการดอกเบี้ยจ่ายที่เคยตั้งไว้มาเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ระหว่างก่อสร้าง หากตัดออกกำไรจะเป็นไปตามคาด และหากตัดกำไรพิเศษ 1.4 พันล้านบาท ซึ่งมาจากสต็อกน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการป้องกันความเสี่ยง จะทำให้ TOP มีผลการดำเนินงานลดลงเมื่อเทียบกับในไตรมาส 3/62 และในไตรมาส 4/61 เป็นผลจากกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม ทั้งในส่วนของธุรกิจกลั่นและปิโตรเคมี ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อก (Market GIM) ลดลงอยู่ที่ 4.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจาก 5.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 3/62 และ 6.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 4/61
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของค่าการกลั่นในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีนี้ภาวะตลาดน้ำมันดิบอ่อนแอ โดยราคาน้ำมันดูไบลดลง 19% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันตลาดน้ำมันสำเร็จรูปก็อ่อนแอ โดยส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน, ดีเซล และ Jet หดตัวด้วยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และราคาน้ำมันดีเซลยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดไว้แม้เกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) จะเริ่มบังคับใช้แล้ว เนื่องจากเรือเดินทะเลยังเลือกใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ (LSFO) มากกว่า
ภาวะเช่นนี้จะทำให้ทิศทางกำไรในไตรมาส 1/63 อ่อนแอมากหรืออาจขาดทุน อย่างไรก็ตามคาดว่าค่าการกลั่นจะฟื้นตัวได้ในปีนี้ หลังจากเรื่องไวรัสโควิด-19 คลี่คลายและคาดจะมีการลดการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เพื่อพยุงราคาน้ำมัน และอุปสงค์ของน้ำมันดีเซลจะฟื้นตัวหลังจากสต็อกน้ำมัน LSFO เริ่มลดลงและราคาขายแพงขึ้น ทั้งนี้ ประมาณการกำไรปี 63 ยังอิง Market GIM ที่สูงขึ้นจากปีก่อน ดังนั้น หากค่าการกลั่นไม่ฟื้นตัวตามคาด ก็จะเป็น Downside risk ต่อประมาณการ
อย่างไรก็ดี ยังแนะนำซื้อและเน้นลงทุนระยะยาว ด้วยราคาเป้าหมายใหม่ที่ 70 บาท/หุ้น จากคาดหวังการฟื้นตัวของค่าการกลั่นในปีนี้ ประกอบกับ Valuation ปัจจุบันถูกมากด้วย P/B 0.91 เท่า ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปี อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนระยะยาวจากโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังผลิตอีก 45% และค่าการกลั่นจะดีขึ้นเนื่องจากสามารถใช้น้ำมันดิบราคาถูกลงได้ และมีมูลค่าแฝงจากการถือหุ้น บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) 24.3% คิดเป็นมูลค่าตลาด 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่บันทึกตามบัญชี 2.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าแฝง 12.4 บาท/หุ้น
ด้านบทวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ "ซื้อ" หุ้น TOP โดยปรับราคาพื้นฐานเป็น 66.50 บาท จากคาดการดำเนินงานจะดีขึ้นตามส่วนต่างราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเกณฑ์ใหม่ IMO ไม่ได้ส่งผลบวกมากอย่างที่เคยคาดและยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทางฝ่ายปรับประมาณการลง แต่คาดผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 4/62 พลิกกลับมากำไรที่ 1.98 พันล้านบาท มาจากรายการพิเศษมากกว่า 1.8 พันล้านบาท (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน, กำไรจากการป้องกันความเสี่ยง, โอนกลับสำรองและกำไรสต็อก) โดย TOP กลับมาผลิตตามปกติอีกครั้ง ส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตกลุ่มโรงกลั่นเพิ่มเป็น 113% จาก 97% ในไตรมาส 3/62 แต่จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเลียมยังไม่ดีอย่างที่คาด และยังได้รับผลจาก crude premium และค่าขนส่งเพิ่มส่งผลให้ค่าการกลั่นที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อก (Market GRM) เหลือ 2.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากไตรมาส 3/62 ที่ 4.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แม้จะได้ส่วนช่วยจากกลุ่มอะโรเมติกส์ และ Lube base ที่ส่วนต่างราคาดีขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชยได้ส่งผลให้ Market GIM เหลือเพียง 4.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 5.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาสที่ 3/62
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 63 ลง 49% และปี 64 ลดลง 40% สะท้อนค่าการกลั่นที่ต่ำกว่าคาดการณ์เดิม โดยสมมติฐานใหม่ให้ค่าการกลั่นที่ 3.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลทั้งในปี 63 และปี 64 จากเดิมปี 62 อยู่ที่ 3.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และลดส่วนต่าง (สเปรด) อะโรเมติกส์ และน้ำมันหล่อลื่นลงด้วย จากอุปสงค์ยังไม่ดีและมีกำลังผลิตใหม่จากจีนเข้ามาทั้งผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) และเบนซีน (BZ) รวมแล้ว 4 ล้านตัน
ขณะที่งวดไตรมาส 4/62 มีกำไรสุทธิ 1.98 พันล้านบาท ดีกว่าที่ฝ่ายวิเคราะห์คาดไว้ 32% และดีกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ 16% เพราะมาร์จิ้นผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นดีขึ้น ไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษ และมีกำไรสต็อกและกำไรจาก Hedging ช่วยหนุน แต่ค่าการกลั่นลดลงและค่าพรีเมียมน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำไรในไตรมาส 1/63 อ่อนแอ เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยค่าการกลั่นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ลดลงมา 18-34% ตั้งแต่ต้นไตรมาส แต่คาดว่าจะฟื้นดัวดีขึ้นหลังจบการแพร่ระบาด โดยยังคงคำแนะนำ"ซื้อ" หุ้น TOP แต่ลดราคาพื้นฐานลงเป็น 69 บาท จากเดิม 78 บาท ขณะที่คาดว่าผลประกอบการปี 63 จะดีขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในปี 62 และให้ Dividend yield ได้ราว 4.5%