บมจ.ไซแมท เทคโนโลยี(SIMAT)ผู้ให้บริการจัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่และพัฒนาโปรแกรมใช้งานสำหรับระบบการจัดข้อมูลองค์กร เล็งการณ์ไกลขยายฐานลูกค้าต่างประเทศเน้นประเทศเพื่อนบ้าน ตามแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ และเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ประเดิมเวียดนามคาดเจรจาตกลงร่วมทุนพันธมิตรท้องถิ่นไม่เกินไตรมาส 2/51 ตั้งเป้าเข้าถือหุ้นบริษัทร่วมทุนอย่างน้อย 20% ขึ้นไป และมองช่วง 2-3 ปีขยายฐานไปกัมพูชาและลาว
ส่วนรายได้ปี 51 คาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 20-30% มาที่ 500-600 ล้านบาท จากปีก่อนที่มี 351.7 ล้านบาท และกำไรสุทธิ ก็จะมากขึ้นจากปีก่อนที่มี 30.76 ล้านบาท ตามอัตรากำไรสุทธิที่จะสูงกว่าปีก่อนที่มี 9% เนื่องจากบริษัทขยายฐานลูกค้าใหม่ ที่จะเจาะลูกค้ารายย่อยมากขึ้น และรายใหญ่ เช่น คาร์ฟูร์ จากปัจจุบัน ที่มีลูกค้ารายใหญ่ คือ เทสโก้โลตัส และร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
พร้อมต่อยอดธุรกิจผลิตฉลากบาร์โค้ดภายใต้บริษัท ไซแมท เลเบล(ประเทศไทย)ที่เป็นบริษัทร่วมทุน คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องและทำรายได้ในปลายไตรมาส 2/51 ปีแรก 50 ล้านบาทช่วยสร้างสภาพคล่องได้เพิ่มขึ้น
*ใกล้ได้ข้อสรุปร่วมทุนเวียดนามภายใน Q2/51
นายทองคำ มานะศิลปพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SIMAT กล่าวว่า บริษัทกำลังเจรจาการร่วมทุนกับกับพันธมิตรเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสำหรับงานจัดข้อมูลองค์กรระบบบาร์โค้ดเช่นเดียวกัน โดยมีการต่อรองทั้งราคาหุ้นและสัดส่วนที่เข้าถือ น่าจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 20% ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนที่ได้จากการขายหุ้น IPO เมื่อปลายปี 50 ที่ได้มาราว 70 ล้านบาท แต่หากต้องการมากกว่านี้ก็พร้อมใช้เงินกู้สถาบันการเงินเพิ่มเติม
"ตอนนี้เราก็คุยกับเขามาตลอด เรื่องราคาหุ้น และ สัดส่วนเข้าถือหุ้นร่วมทุน ก็ยังบอกไม่ได้ว่าต้องใช้เงินเท่าไร แต่ก็คิดว่าเงินทุนที่เรามีอยู่เพียงพอ ยังไม่รู้ว่าเขาจะออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ หรือจะเอาสัดส่วนของเขามาขายให้เรา แต่เราคิดว่าเราก็อยากถืออย่างน้อย 20% ขึ้นไปหากน้อยกว่านี้ก็ไม่คุ้ม คิดว่าจะคุยให้จบไม่เกินไตรมาส 2 "นายทองคำ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
เหตุผลที่บริษัทขยายฐานตลาดไปที่เวียดนาม เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้การจัดการได้รวดเร็ว และสะดวกมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจที่บริษัทมีอยู่ทั้งระบบบาร์โค้ด และ ระบบ RFID ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มตลาดโลกที่ต้องใช้ระบบไอทีมาช่วยในการจัดการองค์กร
โดยระบบ RFID เป็นเทคโนโลยีไร้สายที่ใช้คลื่นวิทยุ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยตรวจคลังสินค้า ค้าปลีก ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจภาคการผลิต
นายทองคำ ยังมองว่าตลาดในกัมพูชาและลาว มีโอกาสสูงที่จะไปขยายฐานตลาดของบริษัทไปได้ เพราะคู่แข่งก็น้อย และระบบไอทีก็มีจำเป็นตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เท่าที่เห็นก็มีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนทั้งสองประเทศ เช่นเดียวกับประเทศเวียดนาม จึงมองว่าในช่วง 2-3 ปี จะเป็นจังหวะเหมาะสม และช่วงนั้นราคาของเทคโนโลยีก็จะต่ำลงจากนี้
*ขยายฐานลูกค้าทุกกลุ่มหลังเอกชนเดินหน้าลงทุน/เจาะตลาดรัฐเพิ่ม
นายทองคำ กล่าวว่า หลังได้รัฐบาลใหม่ ความเชื่อมั่นของเอกชนเริ่มกลับมาและงบประมาณของภาครัฐก็ทยอยเข้ามา บริษัทจึงตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าไม่เฉพาะรายใหญ่ เช่น คาร์ฟูร์ เป็นต้น รวมถึงเอกชนรายย่อยที่บริษัทยังไม่ค่อยมีมากนัก และฐานลูกค้าเดิมที่ต้องการเปลี่ยนจากระบบบาร์โค้ดมาเป็นระบบ RFID มากขึ้น ตามแนวโน้มตลาดโลก และคู่ค้าต่างประเทศ
ในปีนี้บริการขยายบุคคลากรสำหรับเสริมการขายเจาะรายย่อยและสำหรับงานให้บริการหลังการขาย ซึ่งตั้งเป้าจะขยายหน่วยให้บริการดังกล่าวครอบคลุมทั่วประเทศ 76 จังหวัด จากขณะนี้กำลังขยายเป็น 33 หน่วยจาก 22 หน่วยที่มีอยู่ ทำให้ปีนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการในการบริหาร แต่เชื่อว่าจะคุ้มค่า เพราะมีเป้าหมายเน้นให้บริการภายใน 1 วันทำการ จากขณะนี้อยู่ที่ 3 วันทำการ
"เราคิดว่าเราจะขยายทั้งด้านส่วนขาย 200% และด้าน service ก็จะเพิ่มให้ครบทั่วประเทศ แต่คิดว่าใช้งบไม่มากนัก เราไม่ได้เข้าซื้ออสังหาฯ อาจจะเข้าไปเช่าใช้ เราพยายามเปิดหน่วยบริการไปตามที่ลูกค้าไปขยายสาขา เราจะเน้นขายเป็นโซลูกชั่น" นายทองคำ กล่าว
ส่วนภาครัฐทั้งหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยจะเข้าประมูลงานด้านไอทีกับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เช่น บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ทีโอที เป็นต้น โดยคาดว่าในปีนี้จะเข้าร่วมประมูลงานหลายโครงการรวมเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท คาดหวังได้งานอย่างน้อย 10% ของงานที่เข้าประมูล
"บางโครงการที่เราเข้าไป Bid ก็อาจจะได้กำไรไม่มาก แต่เราอาศัยกิน volum คิดเป็นจำนวนเงินก็จะได้มาก แต่เปอร์เซ็นต์กำไรอาจจะน้อยกว่างานเอกชน" นายทองคำกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่าปีนี้สัดส่วนงานภาครัฐจะเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น
นายทองคำ ยังเชื่อมั่นว่าปีนี้ อัตรากำไรสุทธิ(net profit margin)จะเป็นเลข 2 หลัก จากปีก่อนลงไปต่ำที่ 9% ถือว่าเป็นปีที่แย่ เพราะเอกชนไม่มีการใช้จ่าย งานภาครัฐก็ไม่กล้าเบิกงบรายจ่าย ดังนั้น ในปีนี้กำไรสุทธิจะดีกว่าปี 50 ที่มีกำไรสุทธิ 30.76 ล้านบาท ลดลงจากก่อนหน้านั้นประมาณ 15%
ในด้านรายได้ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 20-30% มาเป็น 500-600 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 351.7 ล้านบาท (ไม่นับรวมบริษัทที่ร่วมทุนใหม่) โดยวงจรธุรกิจของบริษัท ไตรมาส 2-3 เป็นไตรมาสที่มีรายได้และกำไรดีที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐใช้จ่ายงบมากสุด
*ต่อยอดผลิตฉลากบาร์โค้ดเสริมให้ครบวงจร
นายทองคำ กล่าวว่า สำหรับบริษัท ไซแมท เลเบล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 60% ร่วมทุนกับ Labels Network Sdn Bh. ดำเนินธุรกิจผลิตกระดาษพิมพ์สำหรับฉลากบาร์โค้ดและฉลากอื่นๆ ขณะนี้ได้เริ่มติดตั้งเครื่องจักร มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท ถ้าไม่พอก็สามารถขยายไลน์ได้ ซึ่งได้เตรียมสถานที่ไว้แล้ว
กลุ่มลูกค้าหลักได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ให้บริการลูกค้าได้ครบวงจร เพราะถึงอย่างไรบริษัทก็ให้บริการทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลองค์กรอยู่แล้ว และอนาคตก็จะผลิตฉลากรองรับระบบ RFID ในอนาคตที่จะเปลี่ยนจากระบบบาร์โค้ด
นายทองคำ คาดว่าจะเปิดเดินเครื่องและทำรายได้ได้ในปลายไตรมาส 2/51 และประเมินว่าจะทำรายได้ในปีแรก 50 ล้านบาท จะสามารถสร้างกำไรได้ทันที
ทั้งนี้ SIMAT ได้เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 18.75 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3.80 บาท และเข้าเทรดในตลาด mai เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 ได้รับเงินสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหุ้น จำนวน 69.15 ล้านบาท และบริษัทได้นำเงินไปใช้บ้างแล้วจำนวน 4.90 ล้านบาท คงเหลือ 64.25 ล้านบาท
SIMAT มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 75 ล้านบาท จำนวนหุ้นสามัญ 75 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--