นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานปี 63 จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ หลังขาดทุนสุทธิที่ 552.86 ล้านบาท เป็นไปตามทุกธุรกิจเติบโตดีเข้ามาด้วย โดยเฉพาะการเข้าลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ที่จะรับรู้ผลการดำเนินงานเข้ามาในปีนี้ และการขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT)
ขณะที่ตั้งงบลงทุนปีนี้ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 90% หรือ 770 ล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้ลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ในสหรัฐ และใช้สำหรับการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน และที่เหลืออีก 10% หรือ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้ปรับปรุงเครื่องจักรในเหมืองต่างประเทศ
ปัจจุบัน ธุรกิจ BANPU ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจผลิตพลังงาน และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ภายใต้กลยุทธ์ "Greener & Smarter" ด้วยการสร้างการเติบโตธุรกิจพลังงานสีเขียว โดยการเพิ่มสัดส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และการจัดตั้ง Banpu NEXT เพื่อพัฒนาและต่อยอดธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน
บริษัทคาดการณ์กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปีนี้จะมาจาก Greener & Smarter ราว 30-40% ตามการดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุน Banpu NEXT ที่ BANPU และบมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ถือหุ้นฝ่ายละ 50% โดยได้ตั้งเป้าภายในปี 68 จะขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานทดแทน (Renewable Energy) แตะ 1,100 เมกะวัตต์ จากปี 62 ที่ 300 เมกะวัตต์ ,ขยายกำลังการผลิตโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) เป็น 500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 109 เมกะวัตต์, ขยายระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เป็น 1,400 เมกะวัตต์ จากปี 62 ที่ 500 เมกะวัตต์ ,ขยาย Electric Vehicles ,ขยาย Smart Cities และการขยาย Energy Trading เป็น 3,000 เมกะวัตต์
ส่วนการลงทุนเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ในมลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนธ.ค.62 ด้วยมูลค่า 770 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 23,907 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทก้าวขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกของสหรัฐอเมริกา และการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้นับได้ว่าอยู่ในช่วงเวลาและราคาที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังมีความเสี่ยงและมีต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำ และช่วยยกระดับศักยภาพของบริษัท ให้มีพอร์ตทางธุรกิจที่หลากหลายตอบรับกับความต้องการในหลากหลายพื้นที่ ต่อยอดความเป็นผู้นำและศักยภาพในการบริหารทรัพยากรด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จากเดิมที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ มลรัฐเพนซิลเวเนียอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การเข้าซื้อแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.63 คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาราว 400 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ซึ่งในปีนี้จะรับรู้ได้ประมาณ 8 เดือนครึ่ง และจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 6 ปี ขณะที่มีปริมาณสำรองการผลิตระยะยาวอย่างน้อย 16 ปี
สำหรับธุรกิจถ่านหิน บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายถ่านหินปีนี้ที่ 46.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 45.3 ล้านตันในปีก่อน ซึ่งจะมาจากเหมืองในออสเตรเลียราว 16.2 ล้านตัน , เหมืองออสเตรเลียราว 25.5 ล้านตัน และอีก 5 ล้านตันจะมาจากเหมืองในจีน โดยเหมืองอินโดนีเซียมีการขายล่วงหน้าไปแล้วกว่า 60% ซึ่งเป็นราคา Fix Price สัดส่วน 28% และอีก 32% เป็นราคาตามดัชนี ขณะที่ราคาถ่านหินเฉลี่ยปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ/ตัน ใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 62
นางสมฤดี กล่าววอีกว่า ธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้บริษัทในปัจจุบันคือกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ซึ่งบริษัทจะไม่หยุดยกระดับการปรับปรุงคุณภาพและลดต้นทุน รวมทั้งพิจารณาถึงตลาดที่มีศักยภาพใหม่ ๆ อาทิ อินเดียและบังคลาเทศ ส่วนในกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงานจะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 5,300 เมกะวัตต์ ภายในอีก 5 ปี โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่เน้นประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเสริมความแข็งแกร่งในศักยภาพการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอผ่านการพัฒนาโครงการในพอร์ตฟอลิโอให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด
ส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน บริษัทจะพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างสมาร์ทโซลูชั่นที่หลากหลายแบบครบวงจรและสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านนายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ BPP กล่าวว่า แผนการดำเนินงานปี 63 บริษัทคาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีก 4 แห่ง กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 451 เมกะวัตต์ (MW) ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน โรงไฟฟ้าพลังงานลม ระยะที่ 1 ในเวียดนาม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยามางาตะ และยาบูกิ ในญี่ปุ่น
ปัจจุบัน บริษัทมีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 33 แห่ง แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 24 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 9 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,901 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตที่ COD แล้ว 2,247 เมกะวัตต์
สำหรับเป้าหมายกำลังการผลิตภายในปี 68 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 5,300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป 4,500 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ โดยส่วนหลังมาจากการเข้าถือหุ้น 50% ใน Banpu NEXT ซึ่งมุ่งดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน
ทั้งนี้ บริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตที่ 300 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเห็นความชัดเจนเมื่อใด รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในเวียดนาม พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน