นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างมากและเป็น 1 ในเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับในปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ได้ชะลอการเข้ามาไทย
ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือ 1.5 – 2.5% จากเดิมคาดการณ์เติบโต 2.7 – 3.7% เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญ อย่างไรก็ตามประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะไม่ชะลอตัวถึงขั้นติดลบ และจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปีนี้
2. ผลกระทบต่อตลาดทุน ในช่วงแรกพบว่าตลาดหุ้นจีนและอีกหลายประเทศในทวีปเอเชียปรับตัวลงแรง หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม จากจำนวนผู้ติดเชื้อในภูมิภาคอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอีกระลอก โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงมากที่สุด สะท้อนจากอัตราผลตอบแทน YTD (นับจาก 1 ม.ค. – 28 ก.พ. 2562) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ที่ -15.15%
และ 3. ผลกระทบด้านสุขภาพ ปัจจุบันการแพร่ระบาดถือว่ายังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการป้องกันอย่างรวดเร็ว โดย ณ วันที่ 1 มี.ค. 2563 ไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวน 42 คน รักษาหายและกลับบ้านได้แล้ว 30 คน (ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ระยะที่ 3 อย่างใกล้ชิด
นายวิน กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน บลจ.พรินซิเพิล มีคำแนะนำภายใต้ธีมการลงทุน ‘Risk Velocity’ อัตราเร็วของความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภาวะที่ราคาสินทรัพย์กับทิศทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกัน ทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงขึ้น อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ดังกล่าวมีมุมมองการวางแผนลงทุนในสินทรัพย์แต่ละกลุ่ม ได้แก่
1.ตราสารหนี้ โดยนับตั้งแต่ปลายปี 2562 บลจ.พรินซิเพิล ได้เพิ่ม Duration (อายุเฉลี่ย) ของพอร์ตลงทุนตราสารหนี้ จึงได้รับประโยชน์จากทิศทางอัตราผลตอบแทนที่ปรับลดลง ทำให้มูลค่าของตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้ปรับเพิ่มขึ้น 2. ตราสารทุน ผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มสัดส่วนถือครองเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องในเดือนมกราคมปีนี้เป็น 8 – 10 % จากเดิม 3 – 5% ทำให้พอร์ตลงทุนปรับลดลงต่ำกว่าดัชนีอ้างอิง และมีกระแสเงินสดเพื่อรอลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาปรับลดลงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน
และ 3. สินทรัพย์ทางเลือก ได้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) โดยเน้นการลงทุนสินทรัพย์คุณภาพดี มีอัตราค่าเช่าสูงและมีรายได้ค่าเช่ามั่นคง เน้นกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ อาคารสำนักงานและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวไม่มากนัก และแทบไม่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจ แม้ว่าความกังวลในปัจจุบันจะกระทบตลาดหุ้นปรับลดลง แต่กลุ่มสินทรัพย์ทางเลือกยังให้ผลตอบแทน YTD สูงกว่าดัชนี SET Index และมองว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นไทยรอบนี้เป็นจังหวะดีที่จะทยอยลงทุนเพิ่มขึ้นใน REIT คุณภาพที่มีราคาลดลง
ทั้งนี้ แนวทางการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหุ้นคือ การใช้หลักการกระจายการลงทุนหรือ ‘Diversification’ เพื่อรับมือภาวะตลาด โดยแนะนำจัดพอร์ตกระจายเงินลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ เช่น กองทุน PRINCIPAL iBALANCED ที่กระจายการลงทุนใน 5 กลุ่มสินทรัพย์ ประกอบด้วย ตราสารหนี้ไทย หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์และทองคำ จึงทำให้กองทุนดังกล่าวมีอัตราผลตอบแทน YTD (ณ 31 ม.ค. 2563) 0.20% ขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลัง YTD ของดัชนีอ้างอิงอยู่ที่ 0.28%* เทียบกับอัตราผลตอบแทนของ SET Index ในช่วงเดียวกันที่ -4.11% (แหล่งข้อมูล: ThaiBMA, The Stock Exchange of Thailand, Bloomberg, BOT, MorningStar Direct)
"เราแนะนำให้นักลงทุนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแต่ไม่ควรตกใจ เพราะมีเหตุการณ์ในอดีตหลายครั้งที่สร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนและทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลงแรง ทำให้หุ้นหลายตัวที่ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ถูกเทขายด้วย จึงมองเป็นโอกาสเข้าลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาลดลง" นายวิน กล่าว