นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เปิดเผยว่า ล่าสุด ประกาศปิดดีลการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพประเภทไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร มูลค่ารวมเกือบ 3,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงินชั้นนำแห่งหนึ่ง สนับสนุนแนวโน้มผลงานปี 2563 และสะท้อนภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพในระบบยังมีการทยอยขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสามารถในการติดตามและการบริหารจัดการหนี้ ทำให้ JMT ได้รับความไว้วางใจจากสถาบันการเงิน ย้ำการเป็นเบอร์หนึ่งภาคเอกชนในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรายใหญ่ของประเทศไทย
ขณะที่ในปีนี้ JMT มีความพร้อมในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยวางงบลงทุนปี 63 ไว้ที่ 4,500 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน แต่หากมีความต้องการในการขายหนี้ออกมาเพิ่มขึ้นในตลาด บริษัทก็เตรียมวงเงินในการลงทุนไว้ถึง 6,000 ล้านบาท เพื่อพร้อมรับโอกาสในการเติบโต
สำหรับปี 62 บริษัทมีพอร์ตบริหารหนี้รวมกว่า 174,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดจัดเก็บหนี้ทำได้ดีทะลุเป้าหมาย และทำสถิติสูงสุดได้เป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง โดยมียอดจัดเก็บกระแสเงินสดเท่ากับ 3,204 ล้านบาท เติบโต 33.5% จากปีที่ผ่านมา เป็นผลจากประสิทธิภาพการจัดเก็บที่ดีขึ้น และศักยภาพของกองหนี้ที่บริษัทได้เข้าลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 681.3 ล้านบาท เติบโตจากปี 61 ที่ 34.8% ซึ่งเป็นยอดกำไรสุทธิสูงที่สุดของบริษัทตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นปีที่ 3 ขณะที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,524.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35.1%
นอกจากนี้ บริษัทฯ ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นในปี 62 จำนวน 28,933 ล้านบาท ด้วยงบลงทุน 3,368 ล้านบาท โดยบริษัทใช้เงินลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งบริษัทพิจารณาคัดสรรในการเข้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ โดยคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในหนี้ด้อยคุณภาพเป็นสำคัญ และเป็นผู้บริหารหนี้ด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกันเอกชนอันดับ 1 ของประเทศไทย ทั้งนี้ กองหนี้ด้อยคุณภาพที่ซื้อเข้ามาในปี 62 ดังกล่าวนั้น จะทยอยเข้ามาสร้างรายได้และกำไรที่ดีต่อเนื่องในปี 63
ผลประกอบการปี 62 ธุรกิจบริหารหนี้ และติดตามหนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว JMT เป็นผู้นำ สามารถซื้อหนี้เข้ามาบริหารได้อย่างมีคุณภาพ สอดรับกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศที่มีระดับหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับมาตรฐานบัญชี IFRS9 ที่มีการเปลี่ยนแปลงมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 63 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สถาบันการเงินมีการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพ ถือเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ JMT เดินหน้าขยายพอร์ตบริหารหนี้ และสร้างรายได้ กำไรอย่างสม่ำเสมอ
"โดย JMT มีพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพในระดับที่สูงขึ้นต่อเนื่องในปี 61 และในปี 62 หรืออยู่ที่ประมาณ 145,000 ล้านบาท และ 174,000 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ในปีนี้คาดสถานการณ์การซื้อหนี้เข้ามาบริหารได้ไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว"นายสุทธิรักษ์ กล่าว