(แก้ไข) GULF คงเป้ารายได้ปี 68 ที่ 1.4 แสนลบ.หลังปีนี้คาดโต 10% จากปีก่อน พร้อมทุ่มงบ 1.4 แสนลบ.ลงทุนใน 7 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 3, 2020 13:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปี 68 ที่ 1.4 แสนล้านบาท จากการมีโรงไฟฟ้าที่ทยอยเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ตามแผนที่วางไว้

โดยในปี 64 คาดว่ารายได้จะเติบโตแบบก้าวกระโดดมาแตะ 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้า GSRC ในไทย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD และโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 310 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่โอมาน 326 เมกะวัตต์จะ COD ในปี 65

ส่วนในปี 66 โรงไฟฟ้า GPD ซึ่งเป็น IPP อีก 1 แห่ง ที่อ.ปลวกแดง จ.ระยอง กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ขณะที่ในปี 68 โรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ก็จะเริ่ม COD

ด้านรายได้ในปี 63 คาดว่าจะเติบโตราว 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้โรงไฟฟ้าไบโอแมส กำลังผลิต 25 เมกะวัตต์ ที่ COD ในช่วงเดือนมี.ค. และโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนามจะ COD เข้าระบบอีก 30 เมกะวัตต์ในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงยังรับรู้รายได้เต็มปีของโรงไฟฟ้าประเภท SPP ทั้งหมด 12 แห่งที่เปิดดำเนินการครบแล้ว 1,563 เมกะวัตต์ ตลอดจนรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่เวียดนาม 120 เมกะวัตต์ ที่ COD ไปแล้วด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงอยู่ระหว่างหาโครงการลงทุนใหม่ ๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซฯประเภท LNG ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตสูงสุด จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บ LNG ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการพิจารณาที่ทางรัฐบาลเวียดนามจะบรรจุโครงการดังกล่าวให้อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ของเวียดนาม คาดว่าจะมีการพิจารณาในช่วงไตรมาส 3/63

รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ สปป.ลาวร่วมกับพันธมิตรจีน กำลังการผลิตสูงสุด 2,400 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีแผนที่จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 30% โดยโครงการนี้คาดว่าจะทำสัญญาและขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกทั้งกำลังเจรจากับรัฐบาลโอมานเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่น โซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิตสูงสุด 2,000 เมกะวัตต์ นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าก๊าซฯอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อขายไฟให้กับโรงกลั่นน้ำมัน

นอกจากนี้ ในช่วงกลางปีนี้บริษัทเตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเงินไปลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น โรงไฟฟ้าประเภท IPP จำนวน 2 แห่ง ขนาดกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ,โครงการมอเตอร์เวย์ รวมถึงโรงไฟฟ้าที่โอมาน และเวียดนาม โดยในปี 63 บริษัทจะใช้เงินลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เงินลงทุนในส่วนทุนจากบริษัท 1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการกู้เงิน

สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 7 ปี (63-69) จะใช้เงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เงินส่วนทุนที่บริษัทจะต้องใช้ จำนวน 4 หมื่นล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทในแต่ละปีที่คาดว่าจะทำได้ 1 หมื่นล้านบาท หลังจากที่โรงไฟฟ้าประเภท IPP ขนาดกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์จ่ายไฟเข้าระบบแล้ว ขณะที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.57 เท่า และในปี 64-65 มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-2.6 เท่า หลังจากที่บริษัทจะใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า IPP และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งบริษัทมีนโยบายจะควบคุม D/E ไม่ให้เกิน 3.5 เท่า โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนเพิ่มทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ