นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโต 5% จากปีก่อนที่ทำได้ 3,419.25 ล้านบาท โดยหลักจะมาจากธุรกิจการให้บริการทางการเงิน (Banking Agent) ผ่านตู้บุญเติมคาดว่าเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% หรือจะมียอดการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18 ล้านรายการ คิดเป็นเม็ดเงินราว 10,000 ล้านบาท หรือมีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีการทำธุรกรรมทั้งสิ้น 12 ล้านรายการ คิดเป็นเม็ดเงินในการทำธุรกรรมทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอดการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเป็นตัวแทนธนาคาร (banking agent) เพิ่มขึ้น 3 ธนาคารในช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวมเป็น 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ขณะเดียวกัน บริษัทก็อยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารพาณิชย์อีก 1 ธนาคาร คาดเห็นชัดเจนได้ภายในปีนี้
"ในปี 63 ถือว่าเป็นปีแห่ง ไฟแนนซ์เชียลเซอร์วิส ครบวงจร ซึ่งปัจจุบันเราได้แบงก์มาเพิ่มเป็น 6 แบงก์แล้ว ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้ธุรกิจการให้บริการธุรกรรมทางการเงินในปีนี้เติบโตอย่างมาก ขณะที่เราก็เตรียมที่จะขยายการให้บริการดังกล่าวมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการเปิดบัญชี และการถอนเงินผ่านตู้บุญเติม คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในครึ่งปีหลังนี้"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ การให้บริการสินเชื่อปีนี้บริษัทได้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 500-800 ล้านบาท ให้กับกลุ่มตัวแทนตู้บุญเติม พนักงานของตัวแทนและพนักงานของบริษัทในเครือ จากปัจจุบันปล่อยไปแล้วทั้งสิ้น 86 ล้านบาท โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 2% เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อยังเป็นกลุ่มตัวแทนบริษัทเท่านั้น ไม่ใช่บุคคลทั่วไป ขณะเดียวกันก็เตรียมปล่อยสินเชื่อไปยังกลุ่มจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มเติมในครึ่งปีหลังนี้ด้วย
สำหรับการเติมเงินผ่านตู้บญเติมในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโต 5% มาอยู่ที่ 42,000 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 40,000 ล้านบาท เป็นไปตามการขยายตู้จำหน่ายน้ำมันอัตโนมัติและเติมเงินที่จะเพิ่มอีก 2,000 ตู้ จากปัจจุบันที่มีตู้บุญเติมครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 130,000 ตู้ โดยวางงบลงทุนไว้ที่ 200 ล้านบาท
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนธุรกิจส่งมอบสินค้าและบริการ เช่น การบริการจัดการระบบตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติรูปแบบต่างๆ เช่น ตู้จำหน่ายเครื่องดื่ม ตู้จำหน่ายสินค้า และตู้จำหน่ายกาแฟสด ปัจจุบันมีจำนวนตู้ทั้งสิ้น 4,000 ตู้ โดยในปีนี้ได้ตั้งเป้าเพิ่มตู้อีก 4,000 ตู้ โดยจะเน้นไปที่ตู้จำหน่ายกาแฟสด อย่างไรก็ตาม ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติดังกล่าวจะอยู่ภายใต้บริษัทในเครือ หรือบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ซึ่งบริษัทจะรับรู้เป็นค่าบริหารจัดการตู้ และได้ตู้เติมเงินเพิ่ม โดยไม่ต้องลงทุนใดๆ
พร้อมกันนี้ธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจกระจายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกชุมชน (โชห่วย) ที่อาศัยเครือข่ายของตัวแทนบุญเติมนั้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้