บมจ.ทีพีไอ โพลีน(TPIPL)ชี้แจงประเด็นข้อกฎหมายที่บริษัทไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุดและอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการศาล
บริษัทฯ ระบุว่า ประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นเหตุผลสนับสนุน ได้แก่ การทุเลาการบังคับในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติ คือ "มาตรา 246 ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไปในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์แต่เจ็ดเดือนขึ้นไป (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงเดือน โดยในระหว่างการทุเลาการบังคับอยู่นั้น ให้ศาลสั่งพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจจัดให้บุคคลดังกล่าวแล้วอยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควร"
และ "มาตรา 247 คดีที่จำเลยต้องประหารชีวิต ห้ามมิให้บังคับตามคำพิพากษาจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอภัยโทษแล้ว หญิงใดจะต้องประหารชีวิต ถ้ามีครรภ์อยู่ให้รอไว้จนคลอดบุตรเสียก่อนแล้วจึงให้ประหารชีวิต
การประหารชีวิตให้ประหาร ณ ตำบลและเวลาที่เจ้าหน้าที่ในการนั้นจะเห็นสมควร"
TPIPL ระบุว่า การขอทุเลาการบังคับคดีในส่วนของค่าปรับ หรือขอผัดผ่อนการชำระค่าปรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติในส่วนนี้ โดยที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 วรรคแรกบัญญัติ "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษาผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ.........."
จากบทบัญญัติของกฎหมาย จะเห็นได้ว่าหากไม่มีการชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา จะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ซึ่งในการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับก็คือการดำเนินการเพื่อให้มีการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือการบังคับคดีอาญานั่นเอง
สำหรับการบังคับคดีอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษาและค่าธรรมเนียม หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 245 วรรคแรก"ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 246 , 247 และ 248 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดี
โดยไม่ชักช้า"นั้น จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลในคดีอาญา กฎหมายบัญญัติให้ทำการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว การที่จะถือว่าคดีถึงที่สุด หมายถึง ศาลฎีกามีคำพิพากษา
หรือถ้าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วคดีจะถึงที่สุดต่อเมื่อไม่มีการอุทธรณ์ หรือ ฎีกาคำพิพากษา
ของศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ ภายในอายุอุทธรณ์หรือฎีกา ตามลำดับ
ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 คำพิพากษา หรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป แต่การบังคับคดีอาญาตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 245 คือเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น กล่าวคือในคดีอาญานั้น เมื่อมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้ลงโทษจำคุก หรือปรับก็ตาม การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จะกระทำก็ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น เพราะถ้ามีการบังคับคดีให้ชำระค่าปรับก่อนคดีถึงที่สุด
หากต่อมาศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า จำเลยไม่มีความผิดหรือยกฟ้องโจทก์ (พนักงานอัยการ) จะคืนค่าปรับให้จำเลยได้โดยวิธีไหน อย่างไร เพราะในขณะชำระค่าปรับเป็นการรับไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น (ในทางปฏิบัติการชำระค่าปรับกระทำโดยยื่นเสียค่าปรับต่อกองงานปรับศาลอาญา) แต่เมื่อจะคืนกลับไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจไว้ว่าใครจะเป็นผู้สั่งคืน หากเป็นเช่นนั้นจำเลยก็คงต้องยื่นฟ้องต่อศาลเป็นอีกคดีหนึ่ง เพื่อให้มีคำสั่งคืนค่าปรับแก่จำเลย ซึ่งก็ยังคงจะมีปัญหาต่อไปอีกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และจะชดเชยให้อย่างไร เท่าใด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคแรก จึงได้กำหนดให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าเมื่อคดี
ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
มาตรา 39 วรรคสองและสาม ที่บัญญัติ"ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้"
จากบทบัญญัติของกฎหมายและเหตุผลดังกล่าวมา บริษัทฯ จะถูกบังคับให้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลอาญาเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีหากเมื่อคดีถึงที่สุดศาลสูงมีคำพิพากษาลงโทษ โดยกำหนดค่าปรับเท่าศาลชั้นต้นหรือมีการปรับลดลง บริษัทฯ ก็สามารถชำระค่าปรับต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลสูงพิพากษา ก่อนที่จะมีการดำเนินการบังคับคดีให้ชำระค่าปรับ และโดยที่คดีนี้ไม่ต้องห้ามการฎีกาคัดค้านคำพิพากษา บริษัทฯ จึงมีระยะเวลาในการเตรียมการและหาแนวทางในการจัดหาเงินค่าปรับไปจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา (ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์) หรือเมื่อคดีถึงที่สุด ศาลสูงมีคำพิพากษาว่าบริษัทฯ ไม่มีความผิดหรือยกฟ้อง บริษัทฯ ก็จะไม่ต้องมีภาระในส่วนของค่าปรับนี้แต่อย่างใด
ฉะนั้น ในปัจจุบันฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ยังไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากในระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการของศาลจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมาย บริษัทฯ ยังไม่ต้องถูกบังคับคดีให้ชำระค่าปรับ และยังไม่ทราบว่าคดีจะถึงที่สุดเมื่อใด และเมื่อถึงที่สุดแล้วผลคำพิพากษาจะเป็นประการใด
และการที่ศาลอาญามีคำพิพากษาปรับบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ ได้เปิดเผยรายละเอียดดังกล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินของ TPIPL และบริษัทย่อย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2550 (ตรวจสอบแล้ว) ซึ่งผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายละเอียดดังกล่าวได้ในงบการเงิน และรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาตดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
อนึ่ง บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด การให้ข้อมูลของบริษัทฯ ให้ได้เพียงที่กฎหมายบัญญัติข้างต้น การที่บริษัทฯ จะชี้แจงมากกว่านี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดการณ์ได้และจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--