นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและในต่างประเทศ ทำให้มีผลกระทบมาถึงยอดขายของบริษัทในปีนี้ด้วยเช่นกัน จากเดิมที่บริษัทวางเป้ายอดขายปี 63 ไว้ที่ 6 แสนล้านบาท แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของไวรัสยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้บริษัทจะต้องพิจารณาปรับลดเป้าหมายยอดขายในปีนี้ลงจากเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยจะพิจารณาในช่วงเดือน เม.ย.หรือ พ.ค.นี้
การปรับลดเป้าหมายยอดขายลงจากเดิมบริษัทมองใน 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สามารถคลี่คลายได้ในช่วงไตรมาส 2/63 และสถานการณ์ต่างเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติมองว่ายอดขายในปีนี้จะยังสามารถเติบโตจากปีก่อนได้เล็กน้อย หรือทรงตัวจากปีก่อนที่ 5.32 แสนล้านบาท แต่ในกรณีที่ 2 หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อไปถึงครึ่งปีหลังลากยาวไปถึงไตรมาส 4/63 จะทำให้แนวโน้มของยอดขายมีโอกาสลดลงจากปีก่อนราว 4-5% ก็เป็นไปได้ แต่บริษัทเชื่อว่าการแพร่ระบาดของไวรัสจะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาส 2/63 หลังจากที่อากาศเริ่มร้อนขึ้น ทำให้ไวรัสเริ่มลดลงและหายไปได้ แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ยังต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันทำให้ยอดขายของบริษัทถูกกระทบไปราว 5% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการชะลอคำสั่งซื้อของกลุ่มลูกค้าโรงแรมและร้านอาหาร หลังจากที่นักท่องเที่ยวหายไป และประชาชนในประเทศกังวลการออกมานอกบ้าน ทำให้การจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ชะลอตัวตาม โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการเชนขนาดใหญ่ลดปริมาณลงตามยอดขายที่ชะลอตัว ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันยอดขายของลูกค้าโรงแรมและร้านอาหารลดลงไปมากถึง 50% จึงกระทบต่อยอดขายของบริษัทอย่างมีนียสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยอดขายจากร้านขายปลีกยังเห็นการเติบโตขึ้น 6-7% คาดว่าเป็นเพราประชาชนหันมาซื้ออาหารใกล้บ้านมากขึ้น หรือสั่งอาหารมาปรุงที่บ้านมากขึ้น โดยภาพรวมธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบไม่มากนัก จากปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งประชาชนยังคงต้องบริโภคอาหารตามปกติ แต่เพียงแค่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงสถานที่บริโภคจากที่หนึ่งไปเป็นอีกที่หนึ่งเพื่อป้องกันตัวเองจากไวรัส และบริษัทมีการจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าขายปลีกในอีก 17 ประเทศ ผ่าน 30 สำนักงาน เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ทำให้ธุรกิจยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
"สิ่งที่เรากลัวอย่างเดียว คือ การที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่องไปเรื่อยๆยาวนาน เพราะยิ่งยาวทำให้คนยิ่งกลัว จะทำให้ความกังวลของคนเพิ่มขึ้น กระทบต่อการ Spending ที่แย่ลง แต่ก๊ไม่คิดว่าว่ายาวไปถึงปลายปีนี้"นายประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับกลยุทธ์ของบริษัทที่ต้องรับมือกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 คือ การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและการจัดการด้านโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะธุรกิจของบริษัทเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่คนต้องบริโภค ทำให้ต้องจัดการด้านคุณภาพและการเก็บรักษาที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตรวจเข้มของระบบซัพพลายเชนตลอดเวลา รวมไปถึงการจัดการด้านการขนส่งและด้านช่องทางการขายที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ทันที เพื่อทำให้รองรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้
ส่วนงบลงทุนของบริษัทในปี 63 ตั้งไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนที่จะนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงงานและคลังสินค้า ไม่รวมงบลงทุนสำหรับการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) โดยที่ดีล M&A บริษัทยังมีการพิจารณาและศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสในการผลักดันธุรกิจให้เติบโตและขยายตลาดของบริษัทให้มากขึ้น ซึ่งในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีความชัดเจนของดีล M&A ของธุรกิจอาหารในต่างประเทศอย่างน้อย 1 ดีล
ขณะเดียวกัน บริษัทยังต้องบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินไปควบคู่กัน โดยเฉพาะการลดต้นทุนทางการเงินในช่วงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งในปีนี้บริษัทจะมีการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุวงเงินรวม 3-4 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยของบริษัทลดลง ทำใหมต้นทุนทางการเงินของบริศชทลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการที่ร่วมช่วยเหลือสังคมหลังจากที่ประเทศไทยประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 นั้น บริษัทตระหนักดีถึงความยากลำบากไนการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการระบาดของโรคซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งบริษัทเป็นผู้นำด้านอาหารปลอดภัยของโลก จึงขอมีส่วนร่วมช่วยเหลือเพื่อเสริมมาตรการของกระทรวงสาธารณะสุขด้วย "โครงการ CPF ส่งอาหารจากใจร่วมต้านภัย COVID-19" โดยการสนับสนุนอาหารสำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวยโรคเฝ้าระวัง รวมถึงบุคคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของวมรัฐทั่วประเทศ
บริษัทจะใช้วิธีการบริหารจัดการ ดังนี้ 1.ขอให้บุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19 แจ้งความประสงค์รับการสนับสนุนจาก CPF โดยลงทะเบียนผ่าน LINE CPFRESHMART 2.บริษัทจะนำรายชื่อที่ลงทะเบียนตรวจสอบกลับไปยังกรมควบคุมโรค 3.เมื่อผู้ป่วยได้รับการยืนยันผ่าน SMS แล้ว ทีมซีพีเฟรชมาร์ทเดลิเวอรี่จะนำผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทจากจุดกระจายสินค้า 109 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ 59 สาขา และต่างจังหวัด 50 สาขา ส่งผลิตภัณฑ์อาหารตรงถึงผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีกลุ่มของพนักงาน CPF ที่เฝ้าระวังที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 27 ราย และบุคคลภายนอกที่ขอเข้ามาราว 200 ราย และคาดว่าจะมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,000 ราย หลังจากวันนี้ (5 มี.ค. 63)
สำหรับโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ สามารถแจ้งความประสงค์รับการสนับสนุนอาหารผ่านฮอตไลน์ซีพีเฟรชมาร์ท โทร.1788 และบริษัทจะนำตู้แช่แข็งพร้อมผลิตภัณฑ์ไปติดตั้งในโรงพยาบาล เพื่อสนับสนุนบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานอย่างหนักในตลอดเวลาในช่วงนี้
"CPF เป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัย และต้องการแบ่งเบาภาระของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนต้องการเป็นส่วนร่วมส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนไทยและประเทศไทยให้รอดพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกท่าน ที่เป็นทัพหน้าในคลี่คลายปัญหานี้ด้วยความขอบคุณอย่างยิ่งครับ"นายประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร CP ที่จะส่งมอบ มีให้เลือกถึง 3 ชุด 34 รายการ ได้แก่ 1.) ชุดอาหารพร้อมรับประทาน (ready to eat) อาทิ ข้าวกะเพราไก่ สปาเก็ตตี้คาโบนารา เกี๊ยวกุ้ง ฯลฯ ที่กลุ่มเสี่ยงสามารถนำเข้าไมโครเวฟเพื่ออุ่นร้อนและรับประทานได้ทันที 2.) ชุดข้าวแกงถุง ที่สามารถแกะถุงรับประทานได้ทันที และ 3.) ชุดอาหารสด เนื้อไก่ เนื้อหมู ที่สามารถนำไปปรุงเป็นเมนูต่างๆได้ตามต้องการ และได้เริ่มดำเนินการจัดส่งตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 63 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ CPF ผลิตอาหารอาหารปลอดภัยด้วยความใส่ใจ ภายใต้แนวคิด "Put Our Heart Into Food" บน 3 เสาหลัก Innovation – People และ Planet ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอาหารที่มุ่งสร้างความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการ CPF ส่งอาหารจากใจร่วมต้านภัย COVID-19 เป็นส่วนหนึ่งของความใส่ใจใน People ซึ่งก็คือผู้บริโภค และคนไทยทุกคน