นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดแผนลงทุนเติบโต 75% ภายใน 5 ปี วางงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท โดยแผนกลยุทธ์ 5 ปีนับจากนี้ไป บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 10-15% โดยคาดว่าจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวด้วยแผนยุทธศาสตร์ 4E’s (Expanding, Extending, Enhancing , Evaluatin)
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 600 เมกะวัตต์ในสปป.ลาว วงเงินกว่า 800 ล้านเหรียญ, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 2 โครงการคือ เขื่อน Nam San 3A และเขื่อน Nam San 3B ขนาดกำลังการผลิต 114 เมกะวัตต์ ในสปป.ลาว , โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตกว่า 100 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุน 3-4 พันล้านบาท และ การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพส่วนต่อขยายเพิ่มเติม (Unit 3) จำนวน 24 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย โดยทั้ง 4 โครงการมีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทจะเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว คาดว่าจะสรุปดีลได้ในไตรมาส 4 /63
กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCPG กล่าวว่า บริษัทคาดว่าในอีก 2-3 เดือนหรือประมาณในไตรมาส 2/63 น่าจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 600 เมกะวัตต์ใน สปป.ลาวให้กับเวียดนามที่มีความต้องการไฟฟ้ามาก ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการอนุมัติสัญญาการซื้อขายของรัฐบาลเวียดนาม โดยมีสัญญาซื้อขาย 6.95 เหรียญสหรัฐ/หน่วย ระยะเวลา 25 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้าง และคาดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 66 ทั้งนี้ บริษัทได้รับสัมปทานพื้นที่ใน สปป.ลาว จำนวน 4 แสนไร่เพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่อยู่บริเวณเซกอง
และบริษัทได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจาก เขื่อน Nam San 3A และเขื่อน Nam San 3B ให้กับเวียดนามแล้ว ซึ่งตั้งแต่ปี 65 จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนามในราคาสูงขึ้น โดยมีการรับประกันการรับซื้อไฟในรูปแบบ Take-or-Pay และมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยการรับชำระค่าไฟฟ้าในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯทั้งจำนวน
"จากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า เราลงทุนเพื่อเติบโต 2 เท่าตัว 5 ปีนี้เราจะลงทุนมากกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเติมเต็ม Adder ที่หายไป และจะสร้างการเติบโต "นายบัณฑิต กล่าว
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบัน ขนาดกำลังผลิต 114 เมกะวัตต์ที่ได้รับส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Adder) 12 บาท/หน่วย โดยคิดเป็นจำนวนเงินมากกว่าครึ่งของ EBITDA สัญญาการซื้อไฟฟ้าจะทยอยหมดลงในปี 65-67
ขณะเดียวกัน บริษัทมีโครงการสร้างสายส่ง จำนวน 2 โครงการ โดยโครงการแรกอยู่ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว เป็นการสร้างสายส่งขนาด 220 กิโลโวลต์ เพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B ไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งโครงการยังมีศักยภาพในการรองรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า 500 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเวียดนามเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนามแล้ว
และ สายส่งโครงการที่สองขนาด 500 กิโลโวลต์ อยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว เพื่อส่งไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งมีศักยภาพในการรองรับกำลังการผลิตได้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ในอนาคตบริษัทฯ มองว่าโครงการสายส่งนี้สามารถรองรับโครงการโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย
นายบัณฑิต คาดว่า EBITDA ในปีนี้เติบโต 20% เนื่องจากปีนี้รับรู้รายได้เต็มปีจากการขายไฟฟ้าจาก เขื่อน Nam San 3A และเขื่อน Nam San 3B รวมกับกิจการโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะเข้าซื้อกิจการในไตรมาส 4 นี้
รวมทั้ง รายได้จากธุรกิจขายปลีก (Retail) เป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัล เอนเนอร์ยี่ ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการ (Digital Energy Products & Services) โดยอยู่ในระหว่างการทำการตลาดผ่านคู่ค้าในกลุ่มธุรกิจ Internet Service Provider ที่มีศักยภาพอีกหลายราย ซึ่งล่าสุดได้เซ็นสัญญากับบมจ.ทีโอที นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกาธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ