PTT ปรับแผนลดสต็อกลดผลกระทบหลังราคาน้ำมันร่วงแรงแม้หวังแค่วิกฤตชั่วคราว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 9, 2020 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่ม ปตท.บริหารจัดการแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันร่วงลงแรง โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการลดสต็อกน้ำมันในส่วนที่ธุรกิจโรงกลั่นหรือธุรกิจน้ำมันบริหารจัดการเอง ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบจากการขาดทุนสต็อกน้ำมันที่อาจจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/63 หลังจากราคาน้ำมันตลาดโลกดิ่งลงหนักช่วงนี้ จากหลายปัจจัยทั้งสงครามการค้า, การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อความต้องการใช้ และล่าสุดความขัดแย้งในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตรในประเด็นการลดกำลังการผลิต ทำให้กลุ่มกองทุนเก็งกำไรเทขายสัญญาน้ำมันออกมา

"ราคาน้ำมันลงดีต่อประเทศไทย แต่ก็มีผลต่อ stock loss ก็ต้องลดสำรองลง เพราะยิ่งเก็บสต็อกเยอะก็จะมีปัญหา โรงกลั่นมีสต็อกตามกฎหมาย และสต็อกที่เก็บเอง ซึ่งก็จะ vary ตามดีมานด์ ที่ยังโอเวอร์ซัพพลาย แต่ระยะสั้นทำอะไรได้ไม่มากอะไรไม่จำเป็นก็ลดค่าใช้จ่าย เราเริ่มทำธุรกิจที่ไม่ขึ้นลงกับราคาน้ำมัน อย่างการค้าขาย ไฟฟ้า แต่เหตุการณ์คราวนี้กระทบโรงกลั่นและปิโตรเคมีอันนี้มันก็แค่ชั่วคราว...ไตรมาส 1 ไม่ดี ก็ไม่ดีเฉพาะ sector ที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจ น้ำมันเครื่องบิน โรงกลั่น"นายชาญศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ โอเปกและชาติพันธมิตรอย่างรัสเซียได้ร่วมประชุมกันเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงประเด็นการลดกำลังการผลิตน้ำมันหลังจะสิ้นสุดความร่วมมือลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.7 ล้านบาร์เรล/วันในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ โดยโอเปกเสนอให้ลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือน เม.ย.จนถึงสิ้นปี 63 เพื่อชดเชยอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่รัสเซียไม่เห็นด้วยและต้องการให้คงกำลังการผลิตตามโควตาเดิมจนถึงสิ้นไตรมาส 2/63 ฉุดให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดเมื่อวันศุกร์ร่วงกว่า 10% ปิดที่ 41.28 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

และล่าสุดซาอุดีอาระเบีย ประกาศวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตและลดราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) สำหรับน้ำมันทุกเกรดที่ส่งมอบให้กับลูกค้าทุกประเทศ กดดันให้ราคาน้ำมันดิบเช้านี้ดิ่งลงอีกกว่า 25% แตระดับ 30.56 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ตลาดน้ำมันมีการเก็งกำไร เมื่อกองทุนต่าง ๆ เห็นว่าโลกมีวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงก็จะถอนการลงทุนออก เหมือนในช่วงปี 51 จากวิกฤตแฮมเบอเกอร์ และช่วงปี 57-58 ที่มีการค้นพบการผลิตจาก shale oil และ shale gas จำนวนมาก กองทุนก็จะถอนเงินไปลงทุนที่อื่น ก็จะสะท้อนต่อราคาน้ำมันในตลาดให้สวิงเพราะเกิดจากการเก็งกำไร อย่างไรก็ตามมองว่าการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันลักษณะนี้จะเป็นชั่วคราว หลังจากนั้นก็จะฟื้นกลับขึ้นมาและกองทุนต่าง ๆ ก็จะกลับเข้ามาซื้อใหม่และเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงไประดับ 30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็จะทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มีรายได้หลักจากน้ำมันจะอยู่ไม่ได้นาน และต้องปรับตัวเอง แม้แต่ผู้ผลิต shale oil และ shale gas ที่มีต้นทุนอยู่ราว 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็ต้องปรับตัว ซึ่งผู้ที่มีต้นทุนการผลิตสูงก็จะลดการผลิตลงมาก็จะทำให้ราคาฟื้นตัวได้ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันก็เริ่มคงที่ในจีนและในช่วงจากนี้จนถึงสิ้นปีนี้ก็น่าจะมียารักษาได้ก็จะลดผลกระทบดังกล่าวได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่ม ปตท.ก็ยังเดินหน้าลงทุนตามแผนงานที่วางไว้ และมองโอกาสการลงทุนมากขึ้นจากตลาดแรงงานที่มีอยู่มาก และค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในโทนแข็งค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ