นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) เปิดเผยว่า แนวโน้มพอร์ตสินเชื่อรวมของบริษัทในปี 63 คาดว่าจะปรับตัวลดลง 20% ใกล้เคียงกับอัตราในปีก่อน จากสิ้นปี 62 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 7.43 พันล้านบาท ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้สินเชื่อจะชะลอตัวมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถาการณ์ของราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมีผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรให้ปรับตัวลดลงตาม
ขณะที่แนวโน้มภาวะของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 63 มีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ปรับตัวลดลงมากกว่าที่ผู้ผลิตคาดการณ์ว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์จะปรับตัวลดลง 6-7% และยอดขายมอเตอร์ไซด์จะปรับตัวลดลง 1% ส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ลดลงไปด้วย ทำให้ในปีนี้บริษัทประเมินการปล่อยสินเชื่อใหม่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งกระทบต่อพอร์ตสินเชื่อรวม
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ของบริษัทได้ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เน้นไปที่การควบคุมคุณภาพของสินเชื่อให้ดีขึ้นเพื่อควบคุมหนี้เสียเพิ่มขึ้น หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ เดือนก.พ.ที่ผ่านมาลูกหนี้เริ่มชำระคืนหนี้ช้าลง และมีการผิดชำระหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทจำเป็นต้องเข้ามาดูแลในคุณภาพหนี้มากขึ้นในช่วงนี้ และเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อรักษาระดับของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ให้เกิน 5%
ขณะที่การเริ่มบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ไตรมาส 1/63 อาจจะทำให้ระดับ NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อนที่ 4.5% แต่ไม่ถึงกับกระทบต่อระดับการตั้งสำรองฯ ให้เพิ่มขึ้นสูง เนื่องจากบริษัทได้ตั้งสำรองฯไปล่วงหน้าก่อนมาตรฐานบัญชีใหม่บังคับใช้มาแล้ว ซึ่งมีระดับการตั้งสำรองสูงถึงเกือบ 200% เพียงพอรองรับระดับหนี้เสียหากเพิ่มสูงขึ้น และบริษัทได้ให้บริษัทบัญชี Big4 มาบริหารจัดการบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ล่วงหน้าไว้แล้ว
ด้านการขยายการปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศในปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าเปิดสาขาในกัมพูชาเพิ่มอีก 6 สาขา เป็น 12 สาขา สาขาในลาวจะเพิ่มอีก 3 สาขา เป็น 6 สาขา และขยายเข้าไปในเมียนมา หลังจากได้รับใบอนุญาตมาแล้ว ซึ่งเริ่มเปิดไปแล้ว 1 สาขา จากแผนทั้งหมดจะเปิด 3 สาขา และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับธุรกิจ Micro Finance ในเมียนมาเพื่อซื้อกิจการมาเสริมศักยภาพ คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.นี้
นายประพล กล่าวว่า บริษัทมองว่าการปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศยังมีโอกาสการเติบโตสูงต่อเนื่องจากปีก่อนที่เติบโตถึง 30% เพราะมีความต้องการใช้สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์สูงกว่าประเทศไทย และประชาชนในกลุ่มประเทศที่เข้าไปทำตลาดยังมีหนี้สินครัวเรือนในระดับต่ำ ทำให้มีความสามารถในการกู้มากกว่าประเทศไทยที่มีหนี้สินครัวเรือนสูง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของพอร์ตสินเชื่อจากต่างประเทศในปีนี้คาดว่าจะยังใกล้เคียงปีก่อนที่ 18% เนื่องจากความต้องการใช้สินเชื่ออาจจะมีการชะลอตัวลงบ้างตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว