นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 63 จะเติบโต 4-5% จากปีก่อนที่มีรายได้ 3.88 พันล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 559 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกำลังการผลิตรวม 31 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จและรับรู้รายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ พร้อมทั้งตั้งเป้าจะมีสัญญาขายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปอีก 15 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันบริษัทได้เซ็นสัญญาแล้ว 6 เมกะวัตต์ และจะมีบางโครงการที่สามารถรับรู้รายได้ทันภายในปีนี้ด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศเวียดนาม 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 360 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว และมีการเจรจาราคาเบื้องต้นแล้วถือว่ามีความเหมาะสม โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในช่วงครึ่งหลังของปี 63
ในส่วนของธุรกิจน้ำ บริษัทคาดว่าปีนี้จะมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปีก่อนอยู่ที่ 110 ลูกบาศก์เมตร เป็นผลมาจากการที่บริษัทได้ลูกค้าใหม่เข้ามาราว 30 ราย นอกจากนี้ยังมีโครงการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานรีไซเคิลน้ำอีก 20,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ด้วยงบลงทุนราว 350 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 63 นี้ ขณะเดียวกันบริษัทยังเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตน้ำประปาขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในช่วงไตรมาส 2/62 นี้
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทได้วางงบลงทุนไว้ราว 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงงานน้ำ และโรงผลิตไฟฟ้าต่างๆ รวมไปถึงการขยายกำลังการผลิตของโครงการโซลาร์รูฟท็อปด้วย แต่ยังไม่รวมงบลงทุนในการเข้าซื้อกิจการ
สำหรับทิศทางผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทคาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรืออาจจะต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ปรับแผนการปิดปรับปรุงโครงการต่าง ๆ ให้มาอยู่ในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อลดการใช้น้ำลง และลดผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 1/63 ผลประกอบการยังอยู่ในระดับที่ดี
นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทเตรียมจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่มูลค่า 4,000 ล้านบาทในช่วงกลางปีนี้ เพื่อที่จะมาทดแทนหุ้นกู้เดิมที่หมดอายุลง และอาจจะมีการพิจารณาออกเพิ่มเติมอีก เพื่อที่จะรองรับการเข้าซื้อกิจการที่ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา