ผจก.ตลท.ควง ส.นักวิเคราะห์แถลงสร้างความเชื่อมั่น-ศึกษากองทุนพยุงหุ้นสอดคล้องสถานการณ์-ทบทวนชอร์ตเซล

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 12, 2020 18:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) แถลงข่าวรอบเย็นวันนี้พร้อมด้วยนายสมบัติ นาราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และแนะนำโอกาสการลงทุน หลังจากตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันนี้ร่วงแรงไปกว่า 134.98 จุด หรือ -10.80% แม้ว่าจะใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์พักการซื้อขายในช่วงบ่ายวันนี้

พร้อมทั้งระบุว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาการจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพตลาดทุนหลังจากที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยยืนยันว่าจะมีการศึกษาให้มีความเหมาะสม พร้อมกับการศึกษามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมในทุกแนวทาง รวมไปถึงการทบทวนธุรกรรมชอร์ตเซลหากจะมีผลต่อ Sentiment รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์กลับเข้าสู่ภาวะปกติและมีความมั่นคง

"ตอนนี้เราอยู่ในช่วงระยะเวลาของการศึกษาและหาหลักการต่างๆ เพื่อให้เหมาะสม ซึ่งจะเห็นได้ว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องมีกองทุนพยุงหุ้นมานานแล้ว เราจึงต้องมาดูว่าด้วยโครงสร้างแบบนี้ สถานการณ์วันนี้เราจะต้องมี จะต้องเป็นแบบไหน หน้าตาแบบไหน ต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างไร และเหมาะกับนักลงทุนแบบไหน ด้วยความอ่อนไหวที่ค่อนข้างมากในขณะนี้ ซึ่งเราก็ต้องดูจากประเทศอื่นด้วยว่าใช้ปัจจัยอื่นๆเข้ามาแล้วเป็นอย่างไร"นายภากร กล่าว

นายภากร กล่าวว่า วันนี้ ตลท.ใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์หลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ลดลงไป 10% และหลังจากเปิดทำการอีกครั้งก็ยังติดลบราว 10% จนถึงตลาดปิดทำการตามเวลาปกติ และมีมูลค่าการซื้อขายราว 1 แสนล้านบาท โดยมีนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 4.6 พันล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 4 พันล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1.9 พันล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายบุคคลซื้อสุทธิ 1.06 หมื่นล้านบาท

จากการที่ตลาดหุ้นลดลงอย่างมากเริ่มจากกลางเดือน ก.พ.จากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และกระแทกแรง ๆ อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.จากสถานการณ์ราคาน้ำมัน และยังมีข่าวเรื่องโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง พบว่าราคาหุ้นใน SET และ mai ต่ำสุดในรอบ 5 ปี จำนวน 231 ตัว ฐานราคาปรับลงมาค่อนข้างมาก

เมื่อราคาลงมาทำให้หุ้น 448 ตัวที่มีราคาเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ต่ำกว่า 1 เท่า แสดงว่ามูลค่าสินทรัพย์สูงกว่าราคาหุ้น เป็นโอกาสของการเข้าซื้อกิจการ เพราะซื้อหุ้นในตลาดได้ถูกมาก และมีบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผลแล้วพบว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูงกว่า 5% มี 66 บริษัท ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ 0.8%

"ทุกวิกฤติมีโอกาส"นายภากร กล่าว

นายสมบัติ นาราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ระบุว่า จากปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้นในขณะนี้ 2 ประเด็นคือ ราคาน้ำมันและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด

โดยในประเด็นของราคาน้ำมันนั้น ขณะนี้เกือบทุกสำนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบันที่ 46 ดอลลาร์/บาร์เรล บางสำนักให้ไว้ที่ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งบริษัทที่มองว่าได้รับผลกระทบทางลบคือ PTT และ PTTEP แต่ยังมี EPS ในระดับที่ยังใช้ได้ เมื่อเทียบกับราคาที่ตกมาหนักกว่า โดยก่อนหน้าวันนี้ PTTEP ให้ EPS ที่ 6 บาทกว่า ราคาพื้นฐาน 98 บาท เงินปันผลลดเหลือ 4.8% พีอี 11 เท่า และวันนี้ต่ำลงไปอีก ส่วน PTT ที่ราคา 28 บาท กำไรหดลง 17% มาที่ 2.80 บาท พีอี 10 เท่ากว่าๆ ปันผล 7% ราคาพื้นฐานระยะยาว 38 บาท

นอกจากนั้น ในเชิงการวิเคราะห์พบว่าราคาน้ำมันที่ลดลงไม่ได้มีเชิงลบอยางเดียว เพราะส่วนใหญ่มองว่าราคาพลังงานลดจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ มีกำลังซื้อมากขึ้นหากไม่มีตัวแปรอื่น หลายภาคธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ ทั้งขนส่ง อุตสาสหกรรม และบริษัทที่มีการค้าขายกับประชาชน เพราะรายจ่ายน้ำมันลดลงทำให้กำลังซื้อดีขึ้น

ขณะที่สถานการณ์ไวรัสโควิดนั้น จากมาตรการที่เข้มข้นของทางการจีนทำให้ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นหากประเทศอื่น ๆ ที่พบการระบาดใช้มาตรการที่เข้มข้นในการสกัดกั้นการแพร่เชื้อเช่นเดียวกับจีน ก็คาดหวังว่าจะสามารถทำให้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ชะลอลงภายในครึ่งแรกของเดือนเม.ย. ซึ่งจะทำให้บรรยากาศทั่วโลกดีขึ้น

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า จากประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบตั้งหลักได้ก็จะใช้มาตรการการเงินการคลังมาแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับครั้งที่สหรัฐลดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉิน และอังกฤษก็ลดดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นมองว่าการใช้มาตรการการเงิน หากมีมาตรการการคลังออกมาควบคู่กัน ก็จะสามารถทำให้จุด Bottom ของตลาดหุ้นเกิดขึ้นได้ทันที ดังนั้นก็ต้องเชียร์ให้หลายประเทศใช้มาตรการการคลังแบบใจถึงพึ่งได้

สำหรับเศรษฐกิจไทย ขณะนี้หลายสำนักคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้น่าจะเติบโตได้ไม่เกิน 1.5% และเริ่มเห็นคาดการณ์ที่ 1.1%, 1.0% หรือบางรายมองว่าต่ำกว่า 1% ขณะที่ทยอยปรับสมมติฐาน EPS ล่าสุดเริ่มเห็นที่ 80-85 บาท จาก 95 บาทในช่วงต้นปี P/E ตลาดหุ้นไทยต่ำกว่า 15 เท่า และมีหุ้นขนาดใหญ่หลายตัวที่ P/E ลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ