นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าออกมาทานข้าวในร้านอาหาร ระมัดระวังการใช้ชีวิตนอกบ้าน ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงกระทบกับร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารในศูนย์การค้า บริษัทจึงลดเป้าหมายยอดขายปีนี้เหลือเติบโต 5-10% จากเดิมคาดเติบโต 15-20% หลังยอดขายในช่วง 2 เดือนแรกลดลง 20%
พร้อมกันนี้ได้ลดงบการลงทุนเป็น 80 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 200 ล้านบาท ขยายสาขาเหลือ 40 สาขาจากเดิม 80 สาขา โดยเป็นการเพิ่มร้านอาหารแบรนด์ "เขียง" เป็นหลักจำนวน 30 สาขา และปรับปรุงสาขาร้านเดิม 8 สาขา แบรนด์ ZEN, AKA,On the table ดังนั้น ในปีนี้จำนวนสาขาจะเพิ่มเป็น 390 สาขา จากปีก่อนมี 350 สาขา
ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้น่าจะมากกว่าปีก่อนราว 4-5% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 106 ล้านบาท โดยเน้นการควบคุมต้นทุน ซึ่งหลัก ๆ ต้นทุนวัตถุดิบมีสัดส่วน 35-40% ต้นทุนค่าเช่าร้าน 10-20% ที่ได้รับการลดค่าเช่า ต้นทุนแรงงาน 20-30% ที่พนักงานสามารถเข้ามาช่วยร้านที่ทำหลายแบรนด์
"วันนี้เรามา review เชื่อว่าโต 5-10%ไม่ถึงกับติดลบ เรามอง best case ว่าจะกระทบ 6 เดือน แต่เรามอง worst case กระทบ 1 ปี ก็จะมา review ใหม่กลางปี"
นายบุญยืน กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ปรับกลยุทธ์เพิ่มการส่งอาหารแบบดิลิเวอรี่มากขึ้น ทั้งการสั่งผ่านแอพพลิเคชั่น และโทรสั่ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดขายผ่านช่องทางดังกล่าวเติบโตเป็น 200 ล้านบาทในปีนี้ จากระดับ 120 ล้านบาทในปีก่อน อย่างไรก็ตามยอดขายแบบดิลิเวอรี่ ก็ยังไม่สามารถทดแทนยอดขายจากร้านในศูนย์การค้าซึ่งมีสัดส่วน 60% และจากร้านนอกศูนย์การค้าที่มีสัดส่วน 40% แต่ก็สามารถช่วยลดผลกระทบได้บ้าง
สำหรับร้านอาหาร ZEN ขณะนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการที่ผู้บริโภคเข้าร้านน้อยลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่ค่อยกล้าทานอาหารดิบ ดังนั้น บริษัทได้ปรับพื้นที่ครัวของร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN เป็นครัวกลาง ของร้านกลุ่ม ZEN เปลี่ยนมาทำอาหารทอด นึ่ง ย่างแทน เพื่อรองรับออร์เดอร์ดิลิเวอรี่ ที่กำลังเติบโตและสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าในสภาวะปัจจุบัน เริ่มเฟสแรก 5 สาขา ได้แก่ สาขาดองกิ มอลล์ ทองหล่อ, สยามสแควร์ วัน, เดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะแจส วังหิน และอาคาร All Season โดยกำหนดเปิดบริการในวันที่ 18 มี.ค.63 และจะดำเนินการให้ครบ 20 สาขาในปีนี้จากที่มีสาขาของ ZEN ทั้งสิ้น 46 สาขา
นอกจากนี้ในส่วนของร้านตำมั่ว ก็สามารถสั่งเมนูของร้านเขียงได้ ซึ่งจะให้สั่งแบบดิลิเวอรี่ โดยจะเน้นอาหารราคาไม่แพง อาหารจานเดียว เป็นต้น
นายบุญยืน กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีแผนขยายสาขาร้านอาหารไปทางภาคใต้มากขึ้น โดยมีความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง ZEN และกลุ่มบมจ.หาดทิพย์ (HTC) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายใหญ่ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘โคคา-โคลา’ ในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท กินดีอยู่ดี 2020 จำกัด โดย บมจ.หาดทิพย์ ถือหุ้น 75% ผ่านบริษัท หาดทิพย์ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจเจส จำกัด และ บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ถือหุ้น 25% ผ่านบริษัท เซ็น แอนด์ สไปซี่ จำกัด
"ความร่วมมือดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะขยายร้านเขียงในภูมิภาค โดยสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์กับพาร์ทเนอร์ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการขยายสาขาในภาคใต้ได้อย่างรวดเร็วครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวจะมีร้านเขียงเปิดบริการในภาคใต้ครบทุกจังหวัด" นายบุญยง กล่าว
นายบุญยืน คาดว่ามูลค่าอุตสาหกรรมอาหารในปีนี้จะปรับลดลง 5-10% มาอยู่ที่ 4.1-4.2 แสนล้านบาท จากปีก่อนมีมูลค่า 4.4 แสนล้านบาท
"วันนี้ไม่ได้แย่หมด ไม่ใช่มีแต่วิกฤต ก็มีโอกาส วิกฤติไม่ได้อยู่ทั้งชีวิต" นายบุญยืน กล่าว