สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรวม 4 ราย ได้แก่ (1) นางจรรยารัตน์ แสงทอง และ (2) นายเอกรัตน์ อภิวัฒนพร กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ยูโอบี ฟรีโฮลด์ เอท ทองหล่อ (UOB8TF) ซึ่งเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก (3) นางอุสุมา สารพูนทรัพย์ และ (4) นางสาวธิติรัตน์ โลหะเศรษฐ์ กรณีให้การสนับสนุนการกระทำผิดของนายเอกรัตน์ โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่พึงได้รับจากการกระทำความผิด รวมจำนวน 2,937,245.66 บาท
ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบผู้กระทำความผิด 2 กลุ่ม มีรายละเอียด ดังนี้ กลุ่มที่ 1 นางจรรยารัตน์ กรรมการของบริษัท สวนอรพินท์ จำกัด (บจ.สวนอรพินท์) ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นผู้เช่าโครงการที่เป็นทรัพย์สินของกองทุน UOB8TF และได้สิทธิในการเสนอราคาซื้อโครงการดังกล่าวแข่งกับผู้เสนอซื้อรายอื่น ได้ล่วงรู้ข้อเท็จจริงที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด (บลจ.ยูโอบี) จะขายทรัพย์สินของกองทุนให้กับบริษัท ซี เอส เอ็ม แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส จำกัด ที่เป็นเหตุให้กองทุน UOB8TF ต้องเลิกกองทุนรวม และเฉลี่ยเงินคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น นางจรรยารัตน์ได้ซื้อหน่วยลงทุน UOB8TF ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2558 – 11 ธันวาคม 2558 ที่ราคา 8.50 - 8.90 บาทต่อหน่วย โดยอาศัยข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งภายหลังเลิกกองทุนมีการเฉลี่ยเงินคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ราคาหน่วยละ 10.69 บาท
กลุ่มที่ 2 นายเอกรัตน์ ในขณะเป็นผู้จัดการกองทุนต่างประเทศของ บลจ.ยูโอบี ล่วงรู้ข้อเท็จจริงที่ บลจ.ยูโอบี อยู่ระหว่างเตรียมการขายทรัพย์สินของกองทุน UOB8TF และห้ามพนักงานทุกรายซื้อขายหน่วยลงทุนดังกล่าว ได้ซื้อหน่วยลงทุน UOB8TF โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ นางอุสุมา และ นางสาวธิติรัตน์ ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 – 4 มีนาคม 2559 ที่ราคา 8.84 - 8.94 บาทต่อหน่วย โดยอาศัยข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งนางอุสุมา และนางสาวธิติรัตน์ เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
การซื้อหน่วยลงทุน UOB8TF ทั้งสองกรณีข้างต้นเป็นการซื้อก่อนข้อมูลเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 และได้กำไรจากการขายหรือการเฉลี่ยเงินคืนผู้ถือหน่วยลงทุนภายหลังข้อมูลภายในเปิดเผย
การกระทำของนางจรรยารัตน์ และนายเอกรัตน์ เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 241 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด ซึ่งปัจจุบันการกระทำดังกล่าวยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 242 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ส่วนการกระทำของนางอุสุมา และนางสาวธิติรัตน์ เข้าข่ายเป็นความผิดตามบทบัญญัติข้างต้นประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ โดยให้ นางจรรยารัตน์ และ นายเอกรัตน์ ชำระค่าปรับทางแพ่งและส่งคืนผลประโยชน์ที่พึงได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงินรายละ 1,712,174 บาท และ 558,405 บาท ตามลำดับ และให้นางอุสุมาและนางสาวธิติรัตน์ชำระค่าปรับทางแพ่งรายละ 333,333.33 บาท หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ชดใช้ผลประโยชน์ที่พึงได้รับและชำระเงินค่าปรับทางแพ่งตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ การที่ ค.ม.พ. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดทั้ง 4 ราย เป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดดังกล่าวเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน* ซึ่ง ก.ล.ต. จะพิจารณาเมื่อบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ การกระทำความผิดของนายเอกรัตน์ เป็นเหตุให้นายเอกรัตน์ซึ่งเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาต่อไป