ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร GLOBAL ที่ระดับ "A" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 18, 2020 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) ที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านในประเทศไทย รวมทั้งอัตรากำไรที่อยู่ในระดับน่าพอใจและการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มฐานลูกค้าซึ่งมีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงราคาพืชผลทางการเกษตรและสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้าน บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำของไทยที่จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับบ้าน ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีจำนวนสาขาทั้งหมด 66 แห่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศและอีก 1 สาขาในประเทศกัมพูชา โดยทุกสาขาตั้งอยู่ในเขตต่างจังหวัดทั้งหมด และประมาณ 40% ของจำนวนสาขาทั้งหมดของบริษัทตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนสาขาที่เหลืออยู่ในภาคอื่น ๆ ของประเทศยกเว้นกรุงเทพฯ

บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.92 หมื่นล้านบาทในปี 2562 จาก 2.62 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เติบโตขึ้น 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ บริษัทมีอัตรากำไรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 11%-15% ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้แข่งขันหลักรายอื่นซึ่งอยู่ที่ระดับ 9%-11%

ยอดขายจากสาขาเดิมยังคงอยู่ภายใต้ความกดดัน ยอดขายจากสาขาเดิมของบริษัทเติบโต 3.4% ในปี 2562 อันเป็นผลมาจากราคาขายสินค้าประเภทเหล็กและท่อสแตนเลสซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของรายได้รวม

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวในปัจจุบัน เมื่อผนวกกับผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 และราคาสินค้าทางการเกษตรที่อ่อนตัวลงแล้วจะส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมของผู้ประกอบการค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับบ้านส่วนใหญ่ในปี 2563 ปรับตัวลดลง ซึ่งรวมถึงบริษัทด้วย

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยจะเติบโตที่ระดับ 1.5%-2.5% ในปี 2563 เทียบกับ 2.4% ในปี 2562 นอกจากนี้ สศช. ยังคาดการณ์ด้วยว่าการบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศจะเติบโตที่ระดับ 3.5% ในปี 2563 ลดลงจากระดับ 4.5% ในปี 2562

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลงที่ระดับ 1% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นจะเติบโตที่ระดับ 4%-11% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2564-2565 เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง

ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการทำกำไรที่น่าพอใจเอาไว้ได้ในช่วงปี 2563-2565 อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทยังคงอยู่ที่ระดับ 21% ในปี 2560-2562 สาเหตุมาจากการปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยรายได้จากกลุ่มสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าสินค้าภายใต้ตราสินค้าอื่นในท้องตลาดมีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของยอดขายรวมของบริษัท ในอนาคตบริษัทตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทต่อรายได้รวมให้เป็นประมาณ 23% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 14.5% ในปี 2563-2565 ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 13% ในช่วงปี 2563-2565 เมื่อเทียบกับ 11%-15% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

คาดว่าระดับการก่อหนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 48.8% ณ สิ้นปี 2562 จาก 46.4% ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากบริษัทมีการใช้เงินลงทุนสำหรับการปรับปรุงร้านค้าของบริษัททุกร้านให้เป็นรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าเป้าหมายให้มากขึ้น

บริษัทวางแผนจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 7-10 แห่งในปี 2563-2565 เทียบกับ 5-7 สาขาต่อปีในปี 2561-2562 ดังนั้น เงินลงทุนของบริษัทจึงจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 2.1-2.5 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565 นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทยังคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ระดับ 44%-47% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทก็คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 10-12 เท่า

วงจรเงินสดค่อนข้างยาว เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องความเพียงพอของสินค้าเพื่อที่จะให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่มร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ บริษัทจึงต้องจัดให้มีปริมาณสินค้าคงคลังจำนวนมากและมีวงจรเงินสดค่อนข้างยาวที่ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 220 วัน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีการใช้เงินทุนที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่ประมาณ 1 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินเพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการบริหารจัดการสินทรัพย์หมุนเวียน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าคงคลัง)

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

จากผลกระทบของภาวะภัยแล้งและโรคระบาด COVID-19 ทำให้คาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลง 1% ในปี 2563 และจะ ค่อย ๆ เติบโตที่ระดับ 4%-11% ในช่วงปี 2564-2565

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 13% ในปี 2563-2565

ค่าใช้จ่ายส่วนทุนและเงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับ 2.1-2.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านได้ต่อไป พร้อมทั้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในช่วงที่มีการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 20% ด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยการลดวงจรเงินสดและเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังคงสามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรและรักษาเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ให้อยู่ในระดับที่ดี ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือระดับหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ