นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวถึงแนวคิดการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นของรัฐบาล โดยคาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 24 มี.ค. 63 เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุน ซึ่งรัฐบาลระบุว่าการระดมทุนจะไม่ได้มาจากภาษีของประชาชน แต่อาจระดมเงินทุนจัดตั้งกองทุนใหม่หรือใช้กองทุนวายุภักษ์เดิมแล้วเพิ่มเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท โดยจะขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนสถาบันและรายย่อย 20-30 วัน นโยบายการลงทุนเน้นหุ้นใน SET50 และ SET100
ด้านฝ่ายวิจัย ASP ระบุว่า หากกลับไปมองในช่วงการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ พบว่าในปี 35 และปี 46 มีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 1 แสนล้านบาท พบว่าช่วยหนุนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนหลังจากจัดตั้งกองทุนในอัตรา 16.7% และ 20% ตามลำดับ
แต่อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าตามราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (Market Cap) ราว 12 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าอดีตในช่วงปี 35 และ 46 ที่อยู่ในระดับ 1-2 ล้านล้านบาทค่อนข้างมาก ดังนั้น หากจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นด้วยเม็ดเงินที่เท่ากับปี 35 คือ 1 แสนล้านบาทอาจมีประสิทธิภาพในการพยุงตลาดหุ้นได้ไม่มากเท่าในอดีต
สำหรับมาตรการเพื่อพยุงตลาดหุ้นที่ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ทยอยออกมา คือ 1. รัฐสนับสนุนการตั้งกองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) เงื่อนไขพิเศษ คล้ายกับกองทุน LTF แต่มีระยะเวลาการถือครอง 10 ปี โดยเริ่มจำหน่ายหน่วยลงทุนในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 63 2.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับเกณฑ์ต่างๆ เพื่อลดความผันผวน โดยกำหนดให้ Short Sell หุ้นเฉพาะราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Up Tick) ช่วยพยุงให้ราคาหุ้นปรับฐานไม่เร่งตัวเร็วเท่าอดีตที่ผ่านมา
3.ตลท.ปรับเกณฑ์การหยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว (Circuit breaker) โดยหาก SET Index ลดลง 8% จะหยุดซื้อขาย 30 นาที, หากSET Index ลดลง 15% จะหยุดซื้อขาย 30 นาที และหาก SET Index ลดลง 20% จะหยุดซือ้ ขาย 60 นาที หลังจากนั้นจะเปิดซื้อขายต่อจนถึงสิ้นวัน
4.ตลท.ปรับเกณฑ์ราคาซื้อขายสูงสุด-ต่ำสุดในแต่ละวัน (Floor-Ceiling) เหลือ +/- 15% จากเดิมที่ +/- 30% โดยเกณฑ์ใหม่บังคับใช้แต่วันที่ 18 มี.ค.-30 มิ.ย. 63