ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ธ.ธนชาต ที่ระดับ "AA-" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 19, 2020 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารธนชาต (TBANK) ที่ระดับ "AA-" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเข้มแข็งทางธุรกิจของธนาคารซึ่งมีสินเชื่อธุรกิจรถยนต์ที่แข็งแกร่งเป็นปัจจัยสนับสนุน ในการประเมินอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงสถานะเงินกองทุนที่เพียงพอของธนาคารอีกด้วย โดยทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะเงินกองทุนและสภาพคล่องของธนาคารอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวม และมองว่าสถานะความเสี่ยงของธนาคารนั้นอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาตและธนาคารทหารไทย (TMB) เป็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจของทั้งสองธนาคาร อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการควบรวมและสภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่ออันดับเครดิตของธนาคารธนชาตอยู่

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์มีความแข็งแกร่ง หนึ่งในปัจจัยเสริมอันดับเครดิตของธนาคารคือการมีสถานะทางการตลาดสินเชื่อรถยนต์ในประเทศไทยที่มีความแข็งแกร่ง ธนาคารให้บริการสินเชื่อแก่ทั้งผู้ผลิตรถยนต์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และผู้บริโภครายย่อย สำหรับธุรกิจรายย่อยนั้น ธนาคารครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 20% เป็นสัดส่วนสูงที่สุดในกลุ่มสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จากข้อมูลของทริสเรทติ้ง

ปัจจุบันธนาคารธนชาตอยู่ในระหว่างการถ่ายโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer – EBT) ให้แก่ธนาคารทหารไทยซึ่งกระบวนการมีกำหนดสิ้นสุดภายในเดือน ก.ค.64 ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวธนาคารจะโอนถ่ายทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดไปให้แก่ธนาคารทหารไทยพร้อมทั้งเข้าสู่กระบวนการเลิกกิจการไปในที่สุด ในปัจจุบันทั้งสองธนาคารยังคงดำเนินการโดยแยกเป็นนิติบุคคล 2 รายซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการบริหารและผู้บริหารชุดเดียวกัน

จากปัจจุบันจนถึง ณ เวลาสิ้นสุดการถ่ายโอนกิจการ ทั้งสองธนาคารยังคงดำเนินการรวมฐานลูกค้า รวมทั้งปรับการเสนอสินค้าและช่องทางการให้บริการผ่านการใช้ชื่อตราสัญลักษณ์ร่วมและการใช้สาขาร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันของธนาคารธนชาตให้แก่ลูกค้าของธนาคารทหารไทย ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เงินฝากต้นทุนต่ำของธนาคารทหารไทยนั้นจะนำเสนอให้แก่ลูกค้าของธนาคารธนชาต การรวมฐานในลักษณะดังกล่าว รวมถึงในด้านอื่น ๆ น่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางธุรกิจและรายได้ของธนาคารธนชาตได้ในระยะยาว

เงินกองทุนแข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะเงินกองทุนของธนาคารธนชาตอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Core Equity Tier-I – CET-1) อยู่ที่ระดับ 17.66% ณ สิ้นปี 2562 ในขณะเดียวกัน คุณภาพเงินกองทุนก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเช่นกันด้วยสัดส่วนของ CET-1 ต่อเงินกองทุนรวมที่อยู่ในระดับสูงกว่า 85% ณ สิ้นปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารธนชาตจะสามารถรักษาสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในปี 2563 ภายใต้สมมติฐานที่เงินปันผลจะอยู่ในระดับตามปกติของธนาคารที่ 40% และอัตราการเติบโตของสินเชื่อจะยังคงอยู่ในระดับไม่เกิน 10% ทั้งนี้ อัตราส่วน CET-1 ของธนาคารทหารไทยซึ่งรวมของธนาคารธนชาตอยู่ที่ระดับ 13.62% ณ สิ้นปี 2562

แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องน่าพอใจ สถานะแหล่งเงินทุนของธนาคารธนชาตถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย แหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงของธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 นั้นประกอบไปด้วยเงินฝาก 81.7% และเงินกู้ (ไม่รวมเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร) 3.5% ส่วนที่เหลือเป็นเงินกองทุนจำนวน 1.33 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 14.8% ของแหล่งเงินทุนทั้งหมด

เงินฝาก ณ สิ้นปี 2562 ประกอบไปด้วยบัญชีเดินสะพัดและเงินฝากออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account – CASA) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 52% เงินฝากประจำ 37% และใบรับฝากเงิน (Certificate of Deposit – CD) อีก 11% เมื่อใกล้ถึงเวลาการถ่ายโอนกิจการ ฐานเงินฝากของธนาคารจะค่อย ๆ ลดลงเนื่องจากตามแผนการโอนกิจการนั้นจะมีการเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารทหารไทยให้แก่ฐานลูกค้าของธนาคารธนชาต ในส่วนของเงินกู้ยืมนั้น ธนาคารธนชาตมีหุ้นกู้ระยะสั้นคิดเป็นมูลค่า 1.28 หมื่นล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดชำระทั้งหมดในเดือนมีนาคม 2563 ธนาคารมีแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่มาทดแทนหุ้นกู้ระยะสั้นดังกล่าวในนามธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาตยังมีหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III อีกจำนวน 7 พันล้านบาทโดยมีทางเลือก (Option) ในการซื้อคืนได้ตั้งแต่ปีที่ 5 นับจากวันที่ออกหุ้นกู้ซึ่งก็คือเดือนพฤษภาคม 2563 โดยคาดว่าธนาคารจะซื้อคืนหุ้นกู้ดังกล่าวด้วย

สภาพคล่องของธนาคารธนชาตเมื่อวัดจากอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากรวมนั้นอยู่ในระดับ 35% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งถือว่าน่าพอใจ โดยก่อนการควบรวมกิจการ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio – LCR) อยู่ที่ระดับ 127% ณ สิ้นครึ่งแรกของปี 2562 เทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 179% และอยู่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของทางการที่ 90%

ผลประกอบการดีขึ้น ธนาคารธนชาตมีผลกำไรแบบรวมกิจการที่ระดับ 2.64 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ซึ่งสูงกว่าในปี 2561 อยู่ 70% โดยมีปัจจัยหลักมาจากกำไรจำนวน 3.86 พันล้านบาทจากการขายบริษัทลูกและบริษัทที่เกี่ยวข้องกันภายใต้การปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ หากไม่นับรวมรายการดังกล่าวแล้ว กำไรสุทธิของธนาคารก็ยังคงแข็งแกร่งโดยสูงกว่าปีก่อนที่ระดับ 8% อัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคาร (ไม่รวมกำไรพิเศษ) อยู่ที่ระดับ 1.6% เมื่อเทียบกับระดับ 1.5% ในปี 2561 ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งสำรองและภาษีเงินจ่ายเพิ่มสูงขึ้นในปี 2562 ก็ตาม ผลประกอบการจากการดำเนินงานของธนาคารปรับตัวดีขึ้นกว่าในปี 2561 โดยหลักใหญ่มาจากรายได้รวมที่เพิ่มสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับคงที่ ผลกำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักจากต้นทุนทางเครดิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 2.39% จาก 2.37% ในปี 2561 จากอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งแม้ว่าจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นก็ตาม

สถานะความเสี่ยงสามารถบริการจัดการได้ สินเชื่อรวมหดตัวลง 4% แบบปีต่อปีเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561 ในขณะที่ความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวที่ระดับ 7% และ 4% ตามลำดับ ในขณะที่สินเชื่อกลุ่มอื่นหดตัวลง สำหรับในช่วงการถ่ายโอนกิจการนั้น สินเชื่อรถยนต์ (ประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน) จะยังคงลงบัญชีในงบการเงินของธนาคารธนชาตอยู่ อย่างไรก็ตาม สำหรับสินเชื่อประเภทอื่น ๆ อาจมีบางส่วนที่ลงบัญชีในงบการเงินของธนาคารธนชาตหรือของธนาคารทหารไทยโดยขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์และผู้พิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ กรณีดังกล่าวน่าจะส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคารธนชาตหดตัวลงอีก นอกจากนี้ การเปลี่ยนการพิจารณาและการอนุมัติสินเชื่อรวมถึงการเคลื่อนย้ายแหล่งเงินทุนก็บ่งบอกด้วยเช่นกันว่าผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตในปี 2563 อาจไม่สามารถเทียบเคียงได้กับผลการดำเนินงานในปี 2562

ในขณะเดียวกัน คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารก็อ่อนแอลงเล็กน้อย โดยอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมเฉพาะของธนาคารเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.7% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 2.5% ณ สิ้นปี 2561 สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมที่คุณภาพสินทรัพย์ด้อยลงประกอบด้วยการผลิตและการค้า อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง รวมถึงเช่าซื้อรถยนต์ แม้กระนั้นอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 1.3% ต้นทุนทางเครดิตในปี 2562 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 0.74% ในปี 2562 จากระดับ 0.61% ในปี 2561 แต่ยังอยู่ในระดับตามปกติของธนาคารและยังคงต่ำกว่าของธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ อยู่ค่อนข้างมาก

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III

อันดับเครดิต "A" สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารธนชาต (TBANK25NA) สะท้อนความเสี่ยงจากการด้อยสิทธิและการไม่จ่ายหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารหนี้ดังกล่าวนี้มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 คงเหลือของธนาคารมีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ย และมีข้อกำหนดให้สามารถตัดเป็นหนี้สูญ (ทั้งจำนวนหรือบางส่วน) ในกรณีที่ทางการเห็นว่าธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร

ธนาคารยังสามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ชุดดังกล่าวคืนได้ทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารโดยได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. แล้ว ในกรณีนี้ ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิที่ด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารธนชาตจะสามารถคงความแข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ รวมทั้งมีเงินกองทุนที่เพียงพอ และมีคุณภาพสินทรัพย์ที่อยู่ในเกณฑ์ดีเอาไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการควบรวมที่ประสบความสำเร็จระหว่างธนาคารธนชาตและธนาคารทหารไทย รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเกื้อหนุนกันของทั้งสองธนาคาร ปัจจัยบ่งชี้ดังกล่าวอาจประกอบด้วยความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานที่ปรับตัวสูงขึ้นของธนาคารหลังการควบรวมกิจการในขณะที่ยังคงต้องมีความระมัดระวังเกี่ยวกับสถานะความเสี่ยงโดยรวมอยู่ ในขณะเดียวกัน อัตราส่วน CET-1 ของธนาคารหลังการควบรวมกิจการควรจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 14.5% อย่างยั่งยืน การควบรวมกิจการที่ไม่ประสบความสำเร็จอันนำไปสู่สถานะความเสี่ยง ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอลง และเงินกองทุนที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่องก็อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารธนชาตลงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ