โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) หลังราคาหุ้นปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา สวนทางปัจจัยพื้นฐานและฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง ทั้งในด้านกระแสเงินสดมีความพร้อมรองรับกับแผนการลงทุน และการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการ Paju ในเกาหลีใต้ และโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ในสปป.ลาว เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อช่วงไตรมาส 4/62
อย่างไรก็ดี มองว่าแม้ EGCO จะเป็นหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าหุ้นโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ในกลุ่ม แต่ยังมีศักยภาพการเติบโตอีกมาก ขณะที่ราคาปัจจุบันยังต่ำกว่าราคาเป้าหมายทำให้มีความน่าสนใจลงทุน
ช่วงบ่ายหุ้น EGCO อยู่ที่ 221 บาท เพิ่มขึ้น 20 บาท หรือ 9.95% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้น 6.90%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ทิสโก้ ซื้อ 306 เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 370 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 358 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 316 กสิกรไทย ซื้อ 363
นายเบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เอเชีย เวลท์ เปิดเผยว่า ราคาหุ้น EGCO ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ซึ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลงมาราว 30% ถือว่าลดลงกว่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก โดย EGCO เป็นหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่มากนัก เนื่องจากพอร์ตโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว และจะได้รับค่าความพร้อมจ่ายตามสัญญา หากโรงไฟฟ้ามีความพร้อมจ่ายตลอดเวลาแม้อาจไม่ได้ถูกเรียกให้จ่ายไฟฟ้าก็ตาม ทำให้การขายไฟฟ้าสามารถรับรู้เป็นรายได้อย่างต่อเนื่อง แม้อัตราการใช้ไฟฟ้าจะลดลง
อย่างไรก็ดี มองว่าแม้ EGCO เป็นหุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yeild) สูงไม่เท่าหุ้นอื่น ๆ ในกลุ่มโรงไฟฟ้า แต่ EGCO มีกระแสเงินสดพร้อมสำหรับการลงทุนค่อนข้างมาก โดยสิ้นปี 62 มีเงินสดในมือกว่า 2 หมื่นล้านบาท และปีนี้มีแผนลงทุนในโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้มีศักยภาพในการเติบโตสูง
สำหรับผลประกอบการรวมของ EGCO ในปีนี้คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อนที่ระดับราว 1.3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะเห็นกำไรจากการดำเนินงานปกติไตรมาส 1/63 กลับมาฟื้นตัวตามฤดูกาล จากกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP รวมทั้งกำไรจากโครงการ Paju ที่เพิ่มขึ้นและรับรู้ได้เต็มไตรมาส รวมถึงการรับรู้กำไรของโครงการไซยะบุรี ที่ EGCO ถือหุ้น 12.5% เริ่มผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ 29 ต.ค.62 จะรับรู้กำไรเข้ามาเต็มไตรมาสเช่นกัน
ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปรับคำแนะนำของ EGCO ขึ้นจาก"ขาย"เป็น"ซื้อ"โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 306 บาท หลังมูลค่าหุ้นกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง แม้ว่าจะปรับประมาณการผลการดำเนินงานลง 14-18% สำหรับปี 63-64 สะท้อนยอดขายไฟฟ้าให้กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและยอดขายไฟฟ้าในต่างประเทศลดลง ตลอดจนค่าไฟลดลงและต้นทุนพลังงานใหม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ได้รวมผลของการซื้อกิจการที่ไต้หวันไว้แล้ว
แต่ EGCO มีสัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาสูงถึง 61% ก็จะเข้ามาช่วยผลการดำเนินงาน แม้มีความเสี่ยงเชิงลบจากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่คิดเป็นสัดส่วนราว 7% สำหรับรายได้ปี 63 ด้านยอดขายไฟฟ้าให้กับต่างประเทศยังคงที่ตามสัญญาการขายไฟฟ้า (ไม่รวมโรงไฟฟ้า Paju และธุรกิจ LNG ที่เกาหลีใต้)
ทิสโก้ มองว่าตลาดกังวลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ Paju มากเกินไป ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งที่การใช้ไฟฟ้าของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 8% ในเดือน ก.พ.63 และยังได้ประโยชน์จากการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ลดลง อย่างไรก็ตามปรับประมาณการรายได้ของโครงการนี้ลง 14% เนื่องจากเป็นการขายไฟฟ้าผ่านระบบกลางทำให้มีความเสี่ยงจากอุปสงค์ของไฟฟ้ากระทบราคาและปริมาณการขาย
ทั้งนี้ EGCO ซื้อขายที่ P/E 11 เท่า คิดเป็นส่วนลด 56% และ 11% จากกลุ่มโรงไฟฟ้าภายในประเทศและภูมิภาค และคาดอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 3.5% สูงกว่ากลุ่มที่ 2.6% โดยใช้ DCF ในการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมที่ 306 บาท ทำให้ราคาปัจจุบันมีความน่าสนใจ
ด้านบทวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า มูลค่าหุ้นของ EGCO กลับมาน่าสนใจอีกครั้งจากราคาหุ้น EGCO ลดลงแล้ว 32% จากจุดสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ด้วย P/E ปี 63 ที่ 12.8 เท่า และ P/B 1.19 เท่า ซึ่งถูกกว่าหุ้นโรงไฟฟ้าใหญ่อื่น แม้โครงการในมือจะไม่ได้สร้างการเติบโตที่โดดเด่นนัก แต่มองว่าด้วยฐานะการเงินและพันธมิตรที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างการเติบโตสูงได้ในอนาคต และด้วยพอร์ตที่กระจายตัวทั้งโรงไฟฟ้าหลายประเภท และในหลายประเทศ จะช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ขณะเดียวกัน EGCO ตั้งเป้าหมายลงทุนสูงถึง 3 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ด้วยฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และสูงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทั้งสำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และการทำ M&A โดยโครงการที่เปิดเผยแล้ว ได้แก่ การรุกเข้าสู่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้พื้นที่โรงไฟฟ้าเก่า จ.ระยอง ขนาด 600 ไร่ พัฒนาเป็น Smart Industrial Estate ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งโครงการนี้จะมีความสามารถในการแข่งขันสูงจากต้นทุนการถือครองที่ดินต่ำกว่าคู่แข่ง
โครงการ Offshore Wind ที่ไต้หวัน (Yunlin) ขนาด 640 เมกะวัตต์ ซึ่ง EGCO ถือหุ้น 25% โดยเฟสแรกกำลังผลิต 352 เมกะวัตต์ จะเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 4/63 และส่วนที่เหลือจะ COD ในไตรมาส 3/64 และโรงไฟฟ้าถ่านหิน Quang-Tri ที่เวียดนาม 1,320 เมกะวัตต์ มูลค่า 7.4 หมื่นล้านบาท โดย EGCO ถือหุ้น 30%, EGAT International 40%, ผู้ร่วมทุนใหม่ 30% ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับรัฐบาลเวียดนาม, จัดหาผู้รับเหมา (EPC) , Financing, และสรรหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ หลังรายเดิม Kyushu Electric ได้ขอถอนตัว ทั้งนี้ คาดโครงการจะ COD ยูนิต 1 ในปี 67 และยูนิต 2 ในปี 68 และโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งภาครัฐอยู่ระหว่างกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจน และ EGCO สนใจเข้าร่วมด้วย
นอกจากนี้ มองว่าส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ จะช่วยลดผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่าในปีนี้ จากคาดว่า EGCO จะพลิกกลับมาขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมากจากเงินกู้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะรับรู้เต็มปีจะเป็นตัวช่วยลดผลกระทบคือ โรงไฟฟ้า SBPL ที่ฟิลิปปินส์ 223 เมกะวัตต์ ที่ COD เมื่อก.ย. 62 และโรงไฟฟ้าไซยะบุรีที่ลาว 160 เมกะวัตต์ COD เมื่อต.ค. 62 นอกจากนั้น ยังได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งกำไรที่ดีของโรงไฟฟ้า Paju ที่เกาหลีใต้ 893 เมกะวัตต์ด้วย