นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวว่า การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนับว่ามีผลกระทบรุนแรง เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 ที่ส่งผลกระทบต่อเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ แต่สถานการณ์ขณะนี้กระทบไปถึงผู้ประกอบการรายเล็กด้วย ซึ่งรัฐบาลควรจะมีมาตรการเพื่อเข้ามาดูแลและช่วยเหลือให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัวโควิด-19 เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมยังคงเดินเครื่องผลิตเช่นเดิม ทำให้การใช้ไฟฟ้ายังมีต่อเนื่อง และแม้สถานที่ทำงานหลายแห่งให้พนักงานทำงานอยู่กับบ้าน รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนอยู่ในที่พักอาศัย แต่ก็ทำให้ยังคงต้องมีการใช้ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน บริษัทยังเดินหน้าลงทุนทั้งในและต่างประเทศตามแผนงานที่กำหนดไว้ แต่อาจปรับรูปแบบการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในช่วงนี้ เช่น การติดต่อกับต่างประเทศก็จะใช้สื่อสารผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ส่วนด้านการลงทุน ในโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่บริษัทร่วมทุนของกลุ่มบริษัทชนะประมูล ก็จะเข้าไปเจรจากับทางภาครัฐต่อไปว่าจะต้องปรับแผนหรือไม่ แต่เชื่อว่าโครงการคงไม่เลื่อนออกไป ส่วนในต่างประเทศ ก็ยังเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผน เนื่องจากโครงการลงทุนของบริษัทเป็นโครงการระยะยาว
นายสารัชถ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่อาจจะเริ่มขาดสภาพคล่อง และอาจจะแบกรับขาดทุนได้เพียง 1-2 เดือน แต่หลังจากนั้นหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป สุดท้ายก็อาจเกิดการปลดพนักงาน รวมถึงจะกระทบไปยังลูกจ้างรายวันด้วย ขณะที่อีกไม่กี่เดือนก็เข้าสู่ภาวะภัยแล้งทำให้อาจจะเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ด้วย
ดังนั้น เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการที่จะทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ โดยอาจต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพราะขณะนี้นับว่าไทยมีสภาพคล่องสูงมากจึงควรใช้สภาพคล่องที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ เพราะภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจจะทำให้ผู้ประกอบการรับภาระในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานมากนัก และหากปล่อยให้ผู้ประกอบการปิดกิจการเป็นจำนวนมากและยาวนาน ก็เชื่อว่าจะทำให้การฟื้นตัวกลับมาเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
อนึ่ง วันนี้ GULF มอบเงิน 20 ล้านบาทแก่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจและเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ (เครื่อง ECMO) ซึ่งเครื่อง ECMO มีศักยภาพในการทำงานทดแทนปอดและหัวใจได้ ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ปอดหรือหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือเกิดความผิดปกติขึ้น นับเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญและขาดแคลนท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19