นายธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) (TPLAS) เปิดเผยว่า บริษัทยังคาดการณ์ผลงานปี 63 จะเติบโตได้แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม แต่ยังคงเชื่อมั่นว่าด้วยธุรกิจอุตสาหกรรมของบริษัทได้รับผลกระทบไม่มากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยรายได้หลักยังคงมาจากจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว และฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ประมาณ 95% ซึ่งยังมีคำสั่งซื้อจากตัวแทนจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่รายได้จากกล่องกระดาษบรรจุอาหารประมาณ 5% ได้มีการปรับกลยุทธ์แบบเชิงรุก โดยการเพิ่มไลน์ผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่รักษ์สิ่งแวดล้อมจะเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทในอนาคต แม้ขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลต่อการขนส่งวัตถุดิบทำให้แผนการผลิตกล่องกระดาษบรรจุอาหารล่าช้าออกเป็นเดือน เม.ย.-พ.ค.63 ที่คาดว่าจะผลิตอยู่ที่ 650,000 ใบ/เดือน จากแผนเดิมที่คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในเดือน มี.ค.
ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นได้ในช่วงหลังปีนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทชาม และผลิตภัณฑ์ประเภทถ้วยกระดาษ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มียอดขายจากผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์แบรนด์ "B-LEAF"เพื่อสิ่งแวดล้อมในปีนี้ประมาณ 30 ล้านบาท
"การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการในส่วนของการทำงานของมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานที่ต้องการมีการเดินทางก็จะมีการแนะนำการป้องกันตัวเอง และในส่วนของการผลิตโรงงานของบริษัท ได้รับมาตรฐานด้านผลิตที่มีระบบฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงงาน และก่อนออกจากโรงงาน รวมทั้งในระหว่างการปฏิบัติงานมีการใช้หน้ากาก หมวกเก็บผมอย่างรัดกุมที่สุด จึงมั่นใจได้ว่าโรงงานของ TPLAS ปลอดภัยในการผลิตแน่นอน"นายธีระชัย กล่าว
นายธีระชัย กล่าวว่า การประเมินภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 1/63 ของบริษัทขณะนี้ยังดำเนินการไปตามปกติ โดยเบื้องต้นบริษัทประมาณอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกจะเป็นไปตามที่บริษัทคาดการณ์ไว้ โดยในส่วนของภาพรวมธุรกิจบรรจุภัณฑ์ถุงบรรจุอาหาร และ ถุงหูหิ้ว ภายใต้ตราสัญญาลักษณ์"หมากรุก"และฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ภายใต้ตราสัญญาลักษณ์ "Vow Wrap" นั้น พบว่าความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ถุงพลาสติก ประเภทถุงบรรจุอาหารและถุงหิ้วยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมายังคงมียอดคำสั่งซื้อจากตัวแทนจำหน่าย (ยี่ปั้ว ซาปั้ว) อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่หวือหวา เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ เพราะมองว่าถุงพลาสติกยังมีความต้องการใช้ในกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่มีชีวิตจับจ่ายใช้สอยในตลาดสด อาทิ อาหารสด หรือแม้แต่อาหารร้อน ที่สำคัญสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคได้มากที่สุด