นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ มีความมั่นใจการบริหารกองทุนตราสารหนี้ได้ต่อเนื่องในภาวะที่ตลาดมีความผันผวน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้สินทรัพย์ทุกประเภททั่วโลกปรับตัวลดลง จากความตื่นตระหนกของนักลงทุนที่ต่างเทขายสินทรัพย์เพื่อถือครองเงินสดแทนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ
ทั้งนี้ กองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความผันผวนต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ โดยบลจ.ไทยพาณิชย์จะไม่มีการปิดรับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน หรือยืดวันชำระเงินค่าขายคืนแต่อย่างใด
"ด้วยความสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ประกอบกับมาตรการที่เข้มแข็งของภาครัฐ และการบริหารจัดการกองทุนอย่างรอบคอบและระมัดระวังเพื่อประโยชน์สูงสุดของท่านนักลงทุนตลอด 28 ปีที่ผ่านมา ทำให้ บลจ. ไทยพาณิชย์มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการกองทุนในช่วงเวลาที่ผันผวนเช่นนี้ และจะไม่มีการปิดรับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนหรือยืดวันชำระเงินค่าขายคืน และพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ท่านลูกค้าผู้ลงทุนทุกท่านอย่างเต็มที่"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) ภายใต้การบริหารของบลจ.ไทยพาณิชย์ ทั้งกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารรัฐตลาดเงิน (SCBTMF) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารรัฐตลาดเงิน พลัส (SCBTMFPLUS) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้น (SCBSFF) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส (SCBSFFPLUS) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ (SCBFIXEDA) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส (SCBFP) นั้น มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความผันผวนต่ำ บริหารจัดการกองทุนโดยเน้นการควบคุมความเสี่ยงอย่างเข้มงวด คัดเลือกลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้คุณภาพระดับ Investment Grade ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน ทำให้ทุกกองทุนมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ
อีกทั้งยังมีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ออกมาตรการนี้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในส่วนมาตรการของ ธปท.ที่ประกาศออกมา เป็นการเตรียมพร้อมอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งนับเป็นมูลค่าที่สูงมากและน่าจะช่วยนำความมั่นคงทางด้านสภาพคล่องสู่ตลาด และทำให้ราคาซื้อขายตราสารหนี้ลดความผันผวนลงอย่างมาก
สำหรับ 3 มาตรการที่ ธปท. ได้กำหนดมีดังนี้ มาตรการที่ 1 ธปท.จะจัดตั้งกลไกพิเศษผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพดี และสามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นหลักประกัน (Repurchase Agreement) เพื่อขอสภาพคล่องกับ ธปท. ได้ โดยกองทุนตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีประเภทนี้มีมูลค่ารวมกันทั้งหมดกว่า 1 ล้านล้านบาท
มาตรการที่ 2 ธปท. จะช่วยเหลือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ครบกำหนดและต้องการต่ออายุ (Rollover) โดยจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง ประกอบด้วยสมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน บริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นผู้จัดตั้งกองทุน โดยจะเข้าซื้อตราสารหนี้เหล่านี้มีมูลค่า 70,000 - 100,000 ล้านบาท โดยในสภาวะที่ไม่ปกตินี้ ถ้าบริษัทเอกชนไม่สามารถ Rollover ต่อได้ กองทุนนี้ก็จะเข้าไปช่วยเติมสภาพคล่องเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้สามารถต่ออายุหุ้นกู้ได้
มาตรการที่ 3 ตลาดพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งปกติจะเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ตอนนี้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีความผันผวนมากกว่าสถานการณ์ปกติ ธปท. พร้อมดูแลให้ตลาดพันธบัตรสามารถทำงานได้ตามกลไกตลาดให้มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเมื่อใดมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ ธปท. จะเป็นผู้เข้าไปเพิ่มสภาพคล่องให้