UAC รับยอดขาย Q1/63 ชะลอหลังเทรดดิ้งรับผลกระทบพิษศก.หวังทั้งปีดันกำไร-EBITDA เข้าเป้าจากสินค้ามาร์จิ้นสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 25, 2020 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 อาจมีการชะลอตัวของยอดขาย เนื่องจากธุรกิจ Trading ชะลอลงบ้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากราคาน้ำมัน แต่ทั้งนี้บริษัทยังพยายามรักษาระดับของกำไรสุทธิ ให้ได้ตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันในส่วนของกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ก็น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากสินค้าของบริษัทมีมาร์จิ้นในระดับสูง

"หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยอมรับว่าการติดต่อระหว่างลูกค้า และ Suppliers อาจจะมีติดขัดบ้าง แต่ก็เป็นพียงแค่บางส่วน เพราะโดยรวมแล้วถือว่ายังดำเนินธุรกิจได้ปกติ ไม่ถึงกับมีปัญหาความล่าช้าในเรื่องการของนำเข้าส่ง-ออกของสินค้าต่างประเทศแต่อย่างใด แต่ก็มีความกังวลเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่บ้าง"นายชัชพล กล่าว

นายชัชพล กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม Manufacturing ประเภทโรงไฟฟ้า และโรงงานกาวยังคงมียอดขายปกติตามเป้าหมาย เพราะธุรกิจดังกล่าวถือเป็นสินค้าในกลุ่มที่มีความต้องการเพื่อการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวัน อีกทั้งบริษัทยังคงมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชุมชุน และการลงทุนใน สปป.ลาวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายการเติบโตในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต

สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันยังไม่สามารถคลี่คลายได้ภายในระยะเวลาอันใกล้ บริษัทจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเรื่องสุขภาพของบุคลากรภายในองค์กร โดยได้มีการแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด ทั้งการเตรียมแผนธุรกิจ และได้ดำเนินการตามระดับความจำเป็นไว้แล้ว อาทิ หากมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น บริษัทพิจารณาให้พนักงานบางส่วนสามารถ "ทำงานที่บ้าน" หรือ Work from Home เพื่อลดความเสี่ยงให้กับพนักงาน รวมไปถึงการงดการประชุม สัมมนา และงดการเดินทางไปต่างประเทศ อีกทั้งได้มีการนำเอาเทคโนโลยีในการสื่อสารใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำงานมากขึ้น

ขณะที่สถานการณ์ดังกล่าวกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการอย่างหนัก ทำให้การบริโภคในประเทศหดตัว ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ดังนั้น เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 63 อาจทำให้แนวโน้มตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีโอกาสติดลบ ซึ่งเกิดจากปัจจัยเชิงลบต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์สงครามน้ำมันซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้าออกไป การลงทุนในโครงการต่าง ๆ ก็ต้องเลื่อนออกไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ