นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดเสนอขาย Super Savings Fund (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) พร้อมกัน 3 กองทุน ในระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 นี้
ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลได้เพิ่มทางเลือกการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เรียกกันว่า Super Savings Fund (SSF) ขึ้นมาทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ยกเลิกไปตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้นักลงทุนสามารถลงทุนใน SSF ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่เสียภาษีแต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้มีประกาศให้นักลงทุนสามารถลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมใน SSF พิเศษได้นอกเหนือจากสิทธิลดหย่อนเดิมอีกไม่เกิน 200,000 บาท และต้องลงทุนเพื่อรับสิทธิตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 นี้เท่านั้น โดยกองทุน SSF พิเศษ จะแตกต่างจาก SSF ปกติ คือ กองทุนจะต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV ตามที่รัฐกำหนด
ดังนั้น บลจ.ไทยพาณิชย์ จึงได้เปิดเสนอขาย Super Savings Fund (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) พร้อมกัน 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ผสม 70/30 เพื่อการออม - SCB Mixed 70/30 Super Saving Fund (SCB70-SSFX), กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นไทยแอคทีฟ เพื่อการออม - SCB Thai Equity Active Super Saving Fund (SCBEQ-SSFX) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ดัชนี SET เพื่อการออม - SCB SET Index Super Saving Fund (SCBSET-SSFX) มูลค่าโครงการละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 กองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนในทุกสภาวะเศรษฐกิจ
โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ผสม 70/30 เพื่อการออม (SCB70-SSFX) เป็นกองทุนผสมที่กระจายการลงทุนในตราสารทุน REITs กองทุนอสังหาริมทรัพย์/โครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 65-70% และลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝาก ประมาณ 30% เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพและลดความผันผวนของพอร์ต รวมถึงโอกาสได้รับรายได้ระหว่างทาง เน้นการบริหารเชิงรุก มุ่งสร้างผลตอบแทนเหนือตลาดด้วยการวิเคราะห์ทั้งข้อมูลเชิงลึกและเชิงปริมาณ
ส่วนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นไทยแอคทีฟ เพื่อการออม (SCBEQ-SSFX) เป็นกองทุนตราสารทุน ลงทุนในหุ้นไทยเฉลี่ยมากกว่า 80% เน้นการบริหารเชิงรุก ลงทุนในหลักทรัพย์ที่ดีที่สุดไม่กี่ตัว เพื่อหาผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้ชนะตลาด (High Conviction) โดยจัดการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงในแต่ละสภาวะตลาด พร้อมทั้งผสมผสานหลากหลายโมเดลการลงทุนให้เหมาะสมตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา เช่น Fundamental, Thematic, Momentum, Sentiment และ Machine Learning เป็นต้น ซึ่งทั้งสองกองทุนจะใช้ตราสารอนุพันธ์สร้างผลตอบแทนและบริหารความเสี่ยง ทั้งยังมีทีมผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ยาวนาน มีกองทุนภายใต้การบริหารที่ได้รับการจัดอันดับ Morningstar 5 ดาว และ 4 ดาวเป็นผู้บริหารกองทุน
สำหรับกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ดัชนี SET เพื่อการออม (SCBSET-SSFX) เป็นกองทุนรวมดัชนี เน้นลงทุนในตราสารทุน ไม่ต่ำกว่า 80% มีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Optimized Portfolio เพื่อให้ได้พอร์ตที่มีสภาพคล่องสูง และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับดัชนี SET มากที่สุด กองทุนจะคัดเลือกหุ้นที่สามารถสะท้อนผลการดำเนินงานของดัชนี SET ได้อย่างใกล้เคียง โดยเป็นหุ้นที่มีน้ำหนักอย่างมีนัยยะในดัชนี SET และมีมูลค่าการซื้อขายรายวัน ซึ่งสะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอ และจะคัดเลือกหุ้นและปรับสัดส่วนการลงทุนให้มี Tracking Error ต่ำ โดยคำนึงถึงต้นทุนธุรกรรม (Transaction Cost) และกรอบการลงทุน โดยจะเลือกลงทุนในหุ้นประมาณ 115 –130 ตัว
ทั้งนี้ กองทุนจะทำการติดตามและปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนโดยพิจารณาจากค่า Tracking Error เป็นหลัก พร้อมทั้งมีการอัพเดท Investment Universe สม่ำเสมอ ซึ่ง บลจ.ไทยพาณิชย์ นับว่าเป็นบลจ.เดียวในประเทศไทยที่บริหารจัดการกองทุนที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามดัชนี SET
"ถึงแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทำให้ดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ลดลงกว่า 30% จากต้นปี แต่ก็เริ่มมีสัญญาณว่าสามารถบริหารจัดการโรคระบาดได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนเตรียมยกเลิกการปิดเมือง สหรัฐฯ เริ่มทดสอบวัคซีนในมนุษย์ครั้งแรก ยุโรปล็อกดาวน์ประเทศเพื่อสกัดไวรัส รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ผนึกกำลังนักวิจัยทั่วโลกเพื่อพัฒนาวัคซีน ประกอบกับธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการอัดฉีดเงินเพื่อสภาพคล่องและการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับประเทศไทยถึงแม้ว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะยังคงสูงขึ้น แต่ในส่วนของภาครัฐก็ได้มีนโยบายที่รับมือผลกระทบในครั้งนี้ด้วยมาตรการผ่อนผันหนี้สินของผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง และ ก.ล.ต. ออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทยเพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงิน 3 ด้านเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ ซึ่งในช่วงนี้นับว่าเป็นจังหวะที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปีสำหรับการลงทุนระยะยาว และมีโอกาสได้ผลตอบแทนในระดับสูง" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว