ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) ที่ A+ แนวโน้ม Negative ตาม CPF ที่เป็นบ.แม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 31, 2020 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันทุกชุดของ บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ที่ระดับ "A+" พร้อม "เครดิตพินิจ"* แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" ซึ่งสอดคล้องกับอันดับเครดิตของ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ซึ่งเป็นบริษัทแม่

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ CPF (ได้รับอันดับเครดิต "A+ แนวโน้มเครดิตพินิจ "Negative" จากทริสเรทติ้ง) ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการดำเนินงานของบริษัทที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับการดำเนินงานของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารและการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่ด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีสถานะเป็นบริษัทย่อยรายสำคัญของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร

บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ CPF โดยบริษัททำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจสัตว์บกแบบครบวงจรในประเทศไทย ในปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 1.44 แสนล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 27% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทแม่) และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจำนวน 8.8 พันล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 16% ของบริษัทแม่)

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนถึงการดำเนินงานที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกันกับของบริษัทแม่ ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากบริษัทแม่ ทั้งนี้ จากการที่บริษัทแม่ถือหุ้นเกือบทั้งหมดในบริษัท บริษัทแม่จึงมีส่วนในการกำหนดทิศทางและการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของบริษัท ในขณะเดียวกัน บริษัทแม่ยังช่วยในเรื่องการจัดจำหน่ายสินค้าและการตลาดสำหรับสินค้าของบริษัทในตลาดส่งออก อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ ให้อีกด้วย

อัตรากำไรฟื้นตัวดีขึ้น ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2562 ฟื้นตัวจากภาวะอุปทานส่วนเกินในช่วงปี 2560-2561 การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์อาฟริกาในสุกร (African Swine Fever -- ASF) ในหลายประเทศทำให้ปริมาณสุกรขาดแคลนและส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสุกรและไก่ จากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อประกอบกับราคาอาหารสัตว์ที่ลดลงได้ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.8 พันล้านบาทในปี 2562 จากระดับ 3-6 พันล้านบาทในปี 2560-2561 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.1% ในปี 2562 จากระดับ 2.2%-4.5% ในปี 2560-2561

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งยังได้ประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 (COVID-19) และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลกอีกด้วย โดยทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าผลกระทบต่อบริษัทจะอยู่ในระดับปานกลางหากเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น โดยยอดขายอาหารแช่แข็งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นและจะช่วยชดเชยยอดขายที่ลดลงจากธุรกิจร้านอาหารได้บางส่วน

ภาระหนี้และกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.3% ในปี 2562 จากระดับ 60.8% ในปี 2561 เนื่องจากมีการเพิ่มฐานทุนจากบริษัทแม่ประมาณ 9.6 พันล้านบาทซึ่งช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นตามอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.1 เท่าในปี 2562 จากระดับ 1.2 เท่าในปี 2561 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.4% ในปี 2562 จากระดับ 2.0% ในปี 2561

ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 8.1 หมื่นล้านบาท โดยที่ประมาณ 90% เป็นหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาว ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้ระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2563 ประมาณ 5 พันล้านบาทซึ่งคาดว่าแหล่งที่มาของเงินสดเพื่อการชำระหนี้จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นหลัก นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องจำนวนมากจากเงินสดในมือจำนวนประมาณ 3.5 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกหลายแห่งด้วย

เป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์สัตว์บก บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจสัตว์บกของประเทศโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจอาหารสัตว์บกภายในประเทศประมาณ 1 ใน 3 นอกจากนี้ ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจไก่ประมาณ 22% ของปริมาณไก่ที่ผลิตภายในประเทศและในธุรกิจสุกรอีก 18% ของปริมาณสุกรที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งนี้ บริษัทได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตที่ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ

มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทแม่ บริษัทจึงมุ่งเน้นการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มโดยใช้ตราสินค้า "ซีพี" สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารส่วนใหญ่ของบริษัท กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดสินค้าที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มอาหารแช่แข็งและอาหารสดลงได้ นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของตนเองอีกด้วยซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทและบริษัทลูกคือ บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นเจ้าของซุ้มขาย "ไก่ย่าง 5 ดาว" จำนวน 4,182 แห่ง ร้าน "ซีพี เฟรช มาร์ท" จำนวน 322 สาขา ร้าน "Pork Shop" จำนวน 31 สาขา ร้าน "ซีพี ฟู้ดเวิลด์" จำนวน 21 สาขา และ ร้าน "ซีพี คิทเช่น" จำนวน 1 แห่ง

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลง 3% ในปี 2563 และจะเติบโตที่ระดับ 3%-5% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565

อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วงระหว่าง 6%-7% ในปี 2563-2565

ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2563-2565


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ